SCGP Newsroom

SCGP หุ้นจ่อ IPO ไฟแรง ผู้นำธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจรในอาเซียน

สรุปจุดเด่น SCGP

  • ผู้ให้บริการโซลูชันด้านกระดาษบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน
  • เติบโตอย่างต่อเนื่องตอบรับจากการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และธุรกิจอื่น ๆ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของ Mega trends ที่สำคัญ
  • ผลการดำเนินงานเป็นเลิศ รายได้จากการขาย และกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่อง
  • SCGP ถือเป็นหุ้นเติบโตหรือ Growth Stock ซึ่งการเข้า IPO จะทำให้ SCGP สามารถไปลงทุนขยายธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่งและเต็มรูปแบบทั้งการเพิ่มกำลังการผลิต (Organic) และการควบรวมกิจการ (Inorganic)
  • พร้อมเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืนไปกับ Circular Economy (หลักเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน) ตอบโจทย์แนวคิดคนรุ่นใหม่ไฟแรง
  • อยู่ในหมวดธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ธุรกิจที่เติบโตในภูมิภาคอาเซียน

คุณกำลังจะเติบโตไปกับอะไร?

บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (“SCGP” หรือ “บริษัทฯ”) เป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีรายได้จากการขายโตแบบปีต่อปีอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดเด่นอย่างการผสานเทคโนโลยีกับสินค้าบรรจุภัณฑ์ให้มีความลํ้าหน้าและทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยยืดอายุอาหารและผัก หรือบรรจุภัณฑ์สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ อีกทั้งยังมีฐานลูกค้าเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งในและนอกประเทศ ไปจนถึงกลุ่ม SMEs

หรือสรุปแล้วคุณกำลังจะเติบโตไปกับธุรกิจที่มียอดขายเติบโตต่อเนื่อง พร้อมฐานลูกค้าที่มีความแข็งแกร่ง!

เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ทุกคนคงอยากจะรู้ตัวอย่างสินค้ากัน เพราะฉะนั้น ผมจึงขอหยิบยกสินค้าบางส่วนของ SCGP มาให้ทุกคนได้รับชมและตัดสินใจในศักยภาพ รวมถึงจะได้เข้าใจธุรกิจกันมากขึ้นนะครับ

หลัก ๆ แล้ว SCGP มีธุรกิจอยู่ 2 ธุรกิจ คือ (1) สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร และ (2) สายธุรกิจเยื่อและกระดาษ ซึ่งมีสินค้าและจุดเด่นต่าง ๆ ดังนี้…

1) ธุรกิจจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร

  • บรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ
  • กระดาษบรรจุภัณฑ์
  • บรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์

มีบรรจุภัณฑ์หลากหลาย อาทิ บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง บรรจุภัณฑ์อาหารต่าง ๆ ที่สามารถนำไปอุ่นร้อนเข้าไมโครเวฟหรือจะแช่เย็นก็ยังได้ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อีกทั้งยังมีบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยยืดอายุผักและผลไม้สดต่าง ๆ ที่จะช่วยลดการเกิดของเสียในระหว่างขนส่ง หรือจะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับอาหารที่ผ่านการอบและสินค้าอื่นที่ไวต่อออกซิเจน ช่วยคงความสดและยืดอายุการเก็บรักษาของสินค้าที่เชื่อมโยงต่อยอดมายังธุรกิจการแพทย์

2) สายธุรกิจเยื่อและกระดาษ คือ จำหน่ายภาชนะบรรจุอาหาร และผลิตภัณฑ์เยื่อและกระดาษ ได้แก่ บรรจุภัณฑ์อาหารแบรนด์ “เฟสท์” และผลิตภัณฑ์เยื่อและกระดาษ รวมถึงกระดาษถ่ายเอกสารแบรนด์ไอเดียด้วย

จากที่เล่ามาแล้ว จึงกล่าวได้ว่า SCGP เป็นผู้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การใช้งานและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่มีความหลากหลาย

พื้นฐานธุรกิจแข็งแรง ลูกค้าทั้งในประเทศและนอกประเทศต่างมั่นใจในคุณภาพ

SCGP มีฐานรายได้ทั้งจากในและนอกประเทศ โดยหลัก ๆ แล้วจะเป็นในประเทศไทย รวมไปถึงกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย

อีกทั้งยังมีฐานลูกค้าที่เป็นบริษัทชั้นนำของประเทศหรือจะเรียกได้ว่ามีพันธมิตรธุรกิจที่มีพื้นฐานแข็งแรง ทำให้ไว้วางใจได้ว่าจะมีการสั่งซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้ที่เติบโตอย่างยั่งยืน

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนกำลังมีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่ง รวดเร็ว

1) ตลาดบรรจุภัณฑ์สำหรับอีคอมเมิร์ซกำลังเติบโตอย่างร้อนแรง

ณ จุด ๆ นี้คงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าอีคอมเมิร์ซยังสามารถเติบโตได้อีกมาก และหากว่ากันถึงตลาดบรรจุภัณฑ์สำหรับอีคอมเมิร์ซที่ SCGP กำลังดำเนินธุรกิจอยู่นั้นก็ถือได้ว่ามีอัตราเติบโตที่น่าทึ่งเช่นกัน จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ธุรกิจแห่งอนาคตที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจบรรจุภัณฑ์

2) ยอดการใช้งานบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ กำลังเติบโต

นอกจากการเติบโตในตลาดใหญ่อย่างอีคอมเมิร์ซแล้ว ยอดการใช้งานสินค้ากลุ่มบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มประเทศที่ SCGP ทำธุรกิจด้วย ก็มีการเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงความต้องการที่ต่อเนื่องไม่ขาดสาย โดยการเติบโตเฉลี่ยต่อปีแต่ปี 2562-2567 นั้นอยู่ที่ 5.87%

และในช่วง COVID-19 ทำให้ผู้คนอยู่บ้านและใช้บริการอีคอมเมิร์ซ ซื้อของออนไลน์กันมากขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่เคยทดลองใช้บริการได้เรียนรู้ และคุ้นชินกับการจับจ่ายออนไลน์ จึงอาจทำให้อีคอมเมิร์ซเติบโตมากกว่าที่เคยเป็น

3) ยอดผู้ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกและกระดาษเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

หากลงรายละเอียดลึกลงมาอีกหน่อย ในส่วนของการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกและกระดาษ บรรจุภัณฑ์กระดาษถือเป็นรายได้ส่วนใหญ่ของ SCGP ยอดการใช้ต่อหัวในไทยนั้นอยู่ที่ 50 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แซงหน้าจีนที่ 35 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในส่วนของบรรจุภัณฑ์พลาสติกเองศักยภาพการเติบโตของ GDP ที่ 5.1% ณ ปี 2562 รวมกับปริมาณประชากรในอาเซียนที่ 650 ล้านคนแล้ว ก็ถือได้ว่ากลุ่มคนในภูมิภาคอาเซียนขนาดใหญ่กำลังมีการเติบโตทางฐานรายได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังการจับจ่ายใช้สอย และนำไปสู่การบริโภคสินค้า ที่จะส่งผลบวกสอดคล้องไปกับกลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่เป็นเหมือนชิ้นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในสินค้าต่าง ๆ

Circular Economy ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ไฟแรง

“SCGP ถือว่ามีศักยภาพการเติบโตในระยะยาวจากรุ่นสู่รุ่นอย่างยั่งยืน”

Circular Economy หรือหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นแนวทางที่เน้นการนำสินค้าและพลังงานกลับมาใช้ใหม่แบบไม่รู้จบ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่ SCGP ให้ความสำคัญโดยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ จึงถือได้ว่ามีศักยภาพการเติบโตในระยะยาวจากรุ่นสู่รุ่นอย่างยั่งยืน

โอกาสลงทุนในหุ้นเติบโตหรือ Growth Stock

เป็นธรรมดาที่หากเราลงทุนในธุรกิจอะไรสักธุรกิจหนึ่ง เราย่อมต้องการโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนและเติบโตไปกับธุรกิจนั้น ซึ่ง SCGP เองก็มีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งแบบ Organic คือการเพิ่มกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ และแบบ Inorganic ผ่านกลยุทธ์การควบรวมกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการเข้าระดมทุนในครั้งนี้ จะทำให้ SCGP มีเงินไปลงทุนต่อยอดธุรกิจได้อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น จึงถือเป็นหุ้นเติบโตหรือ Growth Stock อีกหนึ่งตัวที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนสายคุณค่าหรือ Value Investor (VI)

รายได้จากการขายเติบโตต่อเนื่อง ไม่มีสะดุด

ในส่วนของรายได้จากการขายหากย้อนไปดูสัก 4 ปีก่อนหน้าตามภาพด้านบนก็ถือได้ว่าเติบโตต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและความสามารถของผู้บริหาร ที่สามารถผลักดันยอดขายให้เติบโตต่อเนื่องได้แบบปีต่อปีไม่มีถอย โดยสัดส่วนกว่า 69% ของรายได้จากการขายของ SCGP มาจากธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รายได้สามาถรถไปต่อได้เรื่อย ๆ ไม่ค่อยผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ

การเติบโตไม่หยุดยั้งแต่เพียงเท่านี้ SCGP พร้อมขยายธุรกิจเสริมสร้างรายได้ให้แข็งแกร่ง

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเติบโตทางรายได้ ยอดขายหรือกำไรของบริษัทเป็นสิ่งที่นักลงทุนให้ความคาดหวังกันเป็นอันดับแรก ๆ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ราคาหุ้นและเงินปันผลที่ได้รับเติบโตตาม ๆ กันไป

การขยายธุรกิจเป็นวิถีทางหนึ่ง ที่จะช่วยเสริมสร้างราคาหุ้นให้เติบโตยิ่ง ๆ ขึ้นไป ดังนั้นในส่วนถัดไป เราจะมาดูกันว่าหลัก ๆ แล้ว SCGP กำลังจะขยายโครงการอะไรในอนาคต

โครงการขยายกำลังการผลิต

หลัก ๆ แล้ว SCGP มีโครงการที่จะเพิ่มฐานการผลิตในอนาคต สอดคล้องกับความต้องการสินค้าบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นในอาเซียน ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้า โดยจะมีการขยายกำลังการผลิต ทั้งในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศฟิลิปปินส์

โดยจะมีการขยายกำลังการผลิตทั้งในส่วนของกระดาษบรรจุภัณฑ์ลูกฟูก กระดาษกล่องเคลือบขาว (Duplex Paper) และบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว

หรือสรุปรวม ๆ ได้ว่าเป็นการต่อยอดการผลิตสินค้าที่ทาง SCGP มีความชำนาญเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเพิ่มความมั่นใจได้ว่า การขยายการผลิตดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างรายได้ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในอนาคต

ขยายธุรกิจได้อย่างยืดหยุ่น SCGP มาพร้อมศักยภาพในการควบรวมกิจการ

หากเป็นธุรกิจทั่ว ๆ ไปหลาย ๆ คนคงอาจนึกถึงการปั้นธุรกิจเองขยายสาขา เพิ่มกำลังการผลิตไปเรื่อย ๆ

แต่ SCGP นั้นมีศักยภาพที่เหนือไปกว่านั้น ที่ผ่านมา SCGP ได้ใช้กลยุทธ์ขยายธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการในธุรกิจที่มีศักยภาพสูงและมีความโดดเด่น เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายฐานลูกค้า ตัวอย่างเช่น การเข้าซื้อหุ้นบริษัทผู้นำธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเซีย รวมไปถึงการเข้าซื้อหุ้นบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารสุดลํ้าระดับโลก

แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในการขยายกิจการ สร้างการเติบโตของธุรกิจในอนาคต

ความเสี่ยงที่ควรพึงระวัง

1) ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย
เนื่องจากในช่วงล่าสุดทาง SCGP มีค่าใช้จ่ายในส่วนของดอกเบี้ย ซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤติ COVID-19 อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการคงอัตราดอกเบี้ยและปรับมุมมองเศรษฐกิจเป็นบวกมากขึ้น ทำให้ความผันผวนในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนั้นลดลง

2) ความเสี่ยงทางด้านค่าเงิน
ในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทมีการแข็งค่าค่อนข้างมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการค้ากับต่างประเทศ

3) ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น
ตั้งแต่กลางปี 2562 ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากการเข้าควบรวมกิจการ แต่การระดมทุนจาก IPO ครั้งนี้ จะทำให้ฐานะการเงินของ SCGP แข็งแกร่งขึ้น เพราะจะมีการนำเงินบางส่วนไปชำระหนี้ ทำให้มีอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง

สรุปโดยรวมแล้ว SCGP เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับจองและจับตามอง ด้วยศักยภาพทางพื้นฐานธุรกิจที่มีความมั่นคง และรายได้ที่มีการเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงตอบโจทย์ในระยะยาวต่อคนรุ่นใหม่ด้วยการให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

หมายเหตุ บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำหรือแนะนำให้ซื้อ ถือหรือขายหุ้นแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

References
https://investor.scgpackaging.com/th/financial-information/financial-highlights
https://investor.scgpackaging.com/storage/content/downloads/shareholders-meetings/2020/ar2019-th.pdf
https://marketeeronline.co/archives/145801
https://scgnewschannel.com/th/scg-news/scgp-packaging-solutions/

SCGP หุ้นน้องใหม่ที่ไม่ใหม่

ภาพรวมธุรกิจ

บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (“SCGP” หรือ “บริษัทฯ”) เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นในบริษัทที่ให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ทั้งบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ (Fiber-based Packaging) วัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ (Performance and Polymer Packaging) และภาชนะบรรจุอาหาร (Food Service Products) พร้อมบริการออกแบบ การพิมพ์และโซลูชันอื่น ๆ ที่มีความหลากหลาย

จากจุดเริ่มต้นในปี 2558 ที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากธุรกิจเดิมที่โฟกัสเฉพาะผลิตภัณฑ์กระดาษให้เป็นธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่มีการนำเสนอโซลูชันและนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรมากขึ้น ทำให้ SCGP กลายเป็นผู้ผลิตในระดับภูมิภาคและเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งของเอสซีจีที่มีผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันการดำเนินงานของ SCGP ประกอบด้วยสองธุรกิจหลัก ได้แก่ (1) สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Integrated Packaging Chain) และ (2) สายธุรกิจเยื่อและกระดาษ (Fibrous Chain)

SCGP เป็นผู้ให้บริการชั้นนำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรขนาดใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบันบริษัทฯ มีลูกค้าจำนวนมาก จากกลุ่มลูกค้าที่มีตั้งแต่บรรษัทต่างชาติ บริษัทชั้นนำระดับประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) นอกจากนี้ ฐานลูกค้าของ SCGP ยังอยู่ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ธุรกิจเฮลท์แคร์ ไปจนถึงกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดย 52% ของรายได้จากการขายมาจากลูกค้าภายในประเทศ และอีก 48% เป็นรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ สำหรับงวดหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้โครงสร้างธุรกิจของ SCGP ยากที่จะลอกเลียนแบบ

ธุรกิจของ SCGP ให้บริการและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ และบริษัทฯ ยังมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมให้สามารถตอบสนองทั้งความต้องการของลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการและไลฟ์สไตล์การใช้งานของผู้บริโภค โดยปัจจุบันรายได้จากการขายกว่า 70% ของ SCGP อยู่ในกลุ่มสินค้าในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค รวมถึงได้รับแรงเสริมจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่มีการหันมาซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ และสั่งอาหารผ่านฟู้ดเดลิเวรีเพิ่มมากขึ้น และถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูง โดยในอนาคต SCGP ก็มีโครงการที่จะนำเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการระดมทุน IPO ไปใช้ในการขยายธุรกิจ ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ มีศักยภาพในการเติบโตไปกับอัตราการบริโภคโดยรวมภายในประเทศ

ในส่วนของโครงการในอนาคต SCGP ได้พัฒนาแผนกลยุทธ์ในการควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition (M&A)) โดยมุ่งเน้นไปที่การขยายธุรกิจ การเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์หรือวัสดุพื้นฐานในการผลิต การเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมผลิตภัณฑ์เดิมของบริษัทฯ การสะสมและพัฒนาเทคโนโลยี ทักษะ และความชำนาญใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและการเติบโตทางธุรกิจ

นอกจากนี้ จากแนวโน้ม “เมกะเทรนด์” ทางเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยเฉพาะเทรนด์อีคอมเมิร์ซในกลุ่มประเทศที่ SCGP ประกอบธุรกิจอยู่ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศเวียดนาม และประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งจากข้อมูลของ ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน คาดว่าความนิยมในการซื้อของออนไลน์ใน 4 ประเทศนี้จะเติบโตกว่าปีละ 14.5% ในช่วงระหว่างปี 2562-2567

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

นอกเหนือจาก “ปัจจัยเชิงคุณภาพ” อีกสิ่งหนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ “ปัจจัยเชิงปริมาณ” อันได้แก่ ผลประกอบการและอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทฯ

เมื่อมองผลประกอบการย้อนหลังในช่วงปี 2559-2562 พบว่า SCGP มีรายได้จากการขายที่เติบโตต่อเนื่อง โดยคิดเป็นอัตราการเติบโตประมาณ 6.1% ขณะที่กำไรสุทธิมีอัตราการเติบโตกว่า 17.0% ซึ่งแสดงถึงความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนการเพิ่มประสิทธิภาพและการเติบโตของธุรกิจตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี และล่าสุด ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 SCGP มีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 45,903 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

รายละเอียดเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์

การเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นการทั่วไปเป็นครั้งแรกในครั้งนี้ เป็นการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,127,550,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.5 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ (ไม่รวมจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินอาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯ ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)

หาก ณ วันปิดการเสนอขายหุ้นทั้งหมดจำนวน 1,127,550,000 หุ้น มีผู้จองซื้อหุ้นเป็นจำนวนมากกว่าหุ้นทั้งหมดที่เสนอขายดังกล่าว อาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment) จำนวนไม่เกิน 169,130,000 หุ้น ซึ่งหุ้นส่วนเกินดังกล่าวจะมีจำนวนไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี จำนวนหุ้นที่เสนอขายสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทฯ ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และผู้ซื้อหุ้นเบื้องต้นในต่างประเทศ (ถ้ามี)

มุมมองของ Club VI

วอร์เรน บัฟเฟตต์ สอนว่า ให้ลงทุนในบริษัทที่มี “ความได้เปรียบในการแข่งขัน” ซึ่งเป็นสิ่งที่ SCGP มีอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ในสนามแข่งขันทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน อันเกิดจากโครงสร้างธุรกิจซึ่งยากจะลอกเลียนแบบได้ มีประสิทธิภาพในการผลิตที่ดี อีกทั้งบริษัทฯ ยังเป็นที่เชื่อถือในหมู่ผู้บริโภค มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตอบโจทย์ลูกค้าได้แทบทุกอุตสาหกรรม ตลอดจนอยู่ในเครือบริษัทที่มีรากฐานมั่นคงและทำธุรกิจมายาวนาน

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า บริษัทฯ ยังคงต้องใช้เม็ดเงินลงทุนเพื่อสร้างการเติบโต เพราะการขยายธุรกิจย่อมต้องใช้เงินทุนก้อนโตเพื่อแลกมา จึงควรระมัดระวังเรื่อง “หนี้สิน” หากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ภาระดอกเบี้ยก็ย่อมเพิ่มขึ้น และบริษัทฯ ก็ต้องแบกรับความเสี่ยงมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่เมื่อย้อนดูผลการดำเนินงานในอดีต จะพบว่ารายได้และกำไรของ SCGP ค่อนข้างมีความสม่ำเสมอ จึงยังมีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทฯ จะลากเส้นการเติบโตต่อไปในอนาคต อันเป็นผลจากเทรนด์ของอุปสงค์บรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคที่กำลังเป็นขาขึ้น ประกอบกับการที่ SCGP มีความพร้อมที่จะคว้าโอกาสเหล่านั้น ไม่แพ้รายอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมอีกด้วย

โดยสรุป แม้จะมีความท้าทายหลายประการ แต่ต้องถือว่า SCGP เป็นบริษัทพื้นฐานดี ธุรกิจมีความน่าสนใจลงทุนและมีศักยภาพเติบโตไปกับอุตสาหกรรมอีกหลายประเภท ทั้งนี้ นักลงทุนควรศึกษาและติตตามภาพรวมของธุรกิจที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอให้เข้าใจถ่องแท้

หมายเหตุ บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำหรือแนะนำให้ซื้อ ถือหรือขายหุ้นแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

6 เรื่องที่ต้องรู้ ก่อนลงทุนหุ้น SCGP

บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (“SCGP” หรือ “บริษัทฯ) ถือเป็นหนึ่งใน IPO ของปี 2563 ที่น่าจับตาอย่างมาก เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตและความแข็งแกร่งทางด้านธุรกิจที่โดดเด่น

SCGP นั้นเป็นบริษัทในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (“SCC”) ซึ่งไม่ได้มีเพียงผลิตภัณฑ์ซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจแพคเกจจิ้งอีกด้วย

ธุรกิจแพคเกจจิ้งใน SCC มีการเติบโตที่โดดเด่นมาอย่างต่อเนื่อง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะทำความรู้จักกับ SCGP ให้มากขึ้นก่อนที่เราจะเข้าไปซื้อหุ้น

เราลองมาดูภาพรวมของธุรกิจกันก่อนครับว่ามีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง

6 เรื่องต้องรู้ก่อนลงทุนหุ้น SCGP

  1. เป็นผู้นำธุรกิจบรรจุภัณฑ์ระดับอาเซียน

    SCGP เป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจรขนาดใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในปี 2562 มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 89,070 ล้านบาท และสำหรับครึ่งปีแรกของปี 2563 รายได้จากการขายอยู่ที่ 45,903 ล้านบาท!

    โครงสร้างรายได้ของ SCGP ประกอบไปด้วย 2 สายธุรกิจหลัก

    1. สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Integrated Packaging Chain) มีผลิตภัณฑ์หลากหลายตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ประกอบด้วย
      • บรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ (Fiber-based Packaging)
      • กระดาษบรรจุภัณฑ์ (Packaging Paper)
      • บรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ (Performance and Polymer Packaging)
    2. สายธุรกิจเยื่อและกระดาษ (Fibrous Chain) ประกอบด้วย
      • ผลิตภัณฑ์ภาชนะบรรจุอาหาร (Food Service Products)
      • ผลิตภัณฑ์เยื่อและกระดาษ (Pulp and Paper Products)

    SCGP มีกลุ่มลูกค้าที่กระจายอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารแช่แข็งและอาหารบรรจุกระป๋อง สินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุตสาหกรรม

    จุดเด่นของ SCGP คือการมีสินค้าและบริการที่ครอบคลุมทุกความต้องการ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนากว่าปีละ 500 ล้านบาทต่อปี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

  2. กลยุทธ์ในประเทศและต่างประเทศ

    SCGP เริ่มต้นจากการทำธุรกิจเยื่อกระดาษตั้งแต่ปี 2518 ต่อมาก็ได้ขยายธุรกิจให้เติบโตมากขึ้น รวมถึงการควบรวมกิจการทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2558 ได้ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจและพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค โดยเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)

    ปัจจุบัน SCGP มีโรงงานใน 5 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน คือ ประเทศไทย มียอดขายภายในประเทศร้อยละ 52 และอีกร้อยละ 48 เป็นรายได้จากธุรกิจในต่างประเทศ

    SCGP มุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่องผ่านการขยายกำลังการผลิต (Organic Growth) และการควบรวมกิจการ (Inorganic Growth) ตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ทำให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งจากการผนึกกำลังร่วมกัน (Synergy) ที่มีประสิทธิภาพ

    • ขยายฐานลูกค้าออกไปได้กว้างมากขึ้น
    • เพิ่มความหลากหลายของสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองผู้บริโภคและลูกค้าทุกอุตสาหกรรม
    • ประหยัดเวลาในการสร้างธุรกิจใหม่ สามารถรับรู้รายได้และกำไรในทันที

    และในส่วนของการเติบโตผ่านการขยายกำลังการผลิตนั้น SCGP ได้เพิ่มสัดส่วนการขายในหมวดอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูงตาม Mega Trend ให้มากขึ้น เช่น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจการบริการด้านอาหาร และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

  3. โอกาสเติบโตของ SCGP

    • การเติบโตของบรรจุภัณฑ์ถือเป็น Mega Trend หนึ่งของโลก ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะ E-commerce, Food Delivery และ Healthcare โดยจากข้อมูลของ Frost & Sullivan พบว่ามูลค่าตลาด E-commerce (มูลค่าสินค้าทั้งหมด) ในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศฟิลิปปินส์ ในปี 2562-2567 สามารถเติบโตได้ถึงประมาณร้อยละ 23.8 ต่อปี
    • นอกจากนี้ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศฟิลิปปินส์ ยังมีแนวโน้มในการเติบโตของการบริโภคภาคครัวเรือนในอัตราที่สูงขึ้น โดยจากการคาดการณ์ของ Frost & Sullivan พบว่าประเทศทั้ง 4 จะมีจำนวนประชากรรวมกันมากถึง 570.6 ล้านคน ในปี 2567 รวมทั้งคาดการณ์การบริโภคในครัวเรือนทั้งหมดในประเทศดังกล่าวว่า จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 6.4 ในระหว่างปี 2562-2567 สอดคล้องกับอัตราการใช้บรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนที่คาดว่ามีโอกาสเพิ่มขึ้นได้อีก
    • ปัจจุบันเป็นยุคที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มใส่ใจในผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น การที่ SCGP ยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทำให้มีการใช้ทรัพยากรและวัตถุดิบได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
  4. IPO เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจ

    การเข้า IPO จะทำให้ SCGP สามารถขยายธุรกิจได้อย่างเต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น ผ่านการขยายกำลังการผลิต ทั้งในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะเสริมศักยภาพให้ธุรกิจของ SCGP มีความครบวงจร และสามารถเติบโตไปกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียน

    สำหรับการ IPO นั้น หุ้นของ SCGP จะเข้ามาเป็นหุ้นจดทะเบียนในตลาด SET หมวดสินค้าอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะมีจำนวนหุ้นเพิ่มทุนคิดเป็นร้อยละ 26.5 ของจํานวนหุ้นสามัญที่ออกและชําระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ หลัง IPO (ไม่รวมจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินอาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯ ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

  5. ความเสี่ยง

    อุตสาหกรรมนี้ยังสามารถเติบโตตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ ทั้งนี้อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงในด้านคุณภาพของสินค้าและบริการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้า ความเสี่ยงคือธุรกิจต้องมีจุดเด่นทางด้านอื่นที่เหนือคู่แข่ง ซึ่ง SCGP ได้ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้น Customer-Centricity หรือการดำเนินงานโดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ด้วยการพัฒนานวัตกรรมสินค้า รวมถึงบริการและโซลูชันที่ครอบคลุมและตอบโจทย์การใช้งานบรรจุภัณฑ์ซึ่งสร้างความโดดเด่นและแตกต่างไม่เหมือนใครให้แก่ลูกค้าและผู้บริโภค นอกจากนี้ SCGP ยังมีความแข็งแกร่งเรื่องช่องทางการจัดจำหน่าย นวัตกรรมสินค้าและบริการ การกระจายความเสี่ยงไปในหลายประเทศ หลายอุตสาหกรรม และหลายประเภทสินค้า ทั้งหมดเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความเสี่ยงเหล่านี้ลดลง

  6. ผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

    ผลการดำเนินที่ผ่านมาถือว่า SCGP สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องทั้งรายได้และกำไร โดยภาพรวมล่าสุดในงวดครึ่งปีแรก SCGP มีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 45,903 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,636 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญก็มาจากการควบรวมกิจการและยอดขายบรรจุภัณฑ์ของกลุ่ม E-commerce, Food Delivery ผลิตภัณฑ์อาหารส่งออก สินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ

สัดส่วนรายได้

  • ธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร : ร้อยละ 84.0
  • ธุรกิจเยื่อและกระดาษ : ร้อยละ 16.0

รายได้จากการขาย

  • ปี 2559 : 74,542 ลบ.
  • ปี 2560 : 81,455 ลบ.
  • ปี 2561 : 87,255 ลบ.
  • ปี 2562 : 89,070 ลบ.
  • ครึ่งปีแรก 2563 : 45,903 ลบ.

กำไรสุทธิ

  • ปี 2559 : 3,285 ลบ. (อัตรากำไรร้อยละ 4.4)
  • ปี 2560 : 4,425 ลบ. (อัตรากำไรร้อยละ 5.4)
  • ปี 2561 : 6,065 ลบ. (อัตรากำไรร้อยละ 6.9)
  • ปี 2562 : 5,269 ลบ. (อัตรากำไรร้อยละ 5.9)
  • ครึ่งปีแรก 2563 : 3,636 ลบ. (อัตรากำไรร้อยละ 7.9)

เรามารอดูวัน IPO กันครับว่าราคาหุ้นจะเป็นเท่าไหร่

หมายเหตุ บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำหรือแนะนำให้ซื้อ ถือหรือขายหุ้นแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

รายละเอียดเพิ่มเติม
https://market.sec.or.th/public/ipos/IPOSEQ01.aspx?TransID=282407&lang=th
https://scgp.listedcompany.com/misc/mdna/20191231-scgp-mdna-fy2019-th.pdf
https://investor.scgpackaging.com/th

SCGP จากน้องคนเล็กสู่หุ้นน่าลงทุนตัวใหม่จากค่ายเอสซีจี

ภาพของธุรกิจที่แว้บเข้ามาในความคิด เมื่อนึกถึง ‘เอสซีจี’ คือธุรกิจอะไร?

เชื่อว่าแพคเกจจิ้งคงไม่ใช่คำตอบแรกที่ติดโผเข้ามาใน Top of Mind คุณอย่างแน่นอน เพราะธุรกิจกลุ่มนี้เรียกได้ว่าเป็นน้องคนเล็กสุดของปูนซิเมนต์ไทย จากสัดส่วนรายได้ที่คิดเป็นประมาณร้อยละ 23 ของรายได้จากการขายของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (“SCC”) ขณะที่อีกร้อยละ 77 มาจากพี่ ๆ ในครอบครัวอย่างธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง รวมถึงธุรกิจเคมิคอลส์

ทว่าเมื่อพลิกดูผลประกอบการล่าสุดของ SCC ในงวดครึ่งปีแรกของปีนี้อาจสร้างความเซอร์ไพรส์ให้ใครหลายคน เพราะธุรกิจแพคเกจจิ้งที่ดำเนินการโดย บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (“SCGP” หรือ “บริษัทฯ) กลับเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีรายได้เติบโตเพิ่มขึ้น แม้จะเป็นช่วงเวลาแห่งการเกิดวิกฤตใหญ่ของโลกอย่าง COVID-19 ที่กินเวลาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เพราะสัดส่วนรายได้กว่าร้อยละ 69 ของบริษัทฯ มาจากกลุ่มสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรของ SCGP นั้นได้รับอานิสงส์ทั้งจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) และธุรกิจบริการรับส่งอาหาร (Food Delivery) ที่จำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการส่งสินค้าไปยังผู้บริโภค รวมถึงสินค้าเกี่ยวกับการดูแลสุขอนามัย (Healthcare) SCGP ก็ยังมีบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ จำพวกบรรจุภัณฑ์แบบคงรูปและบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวที่สามารถรองรับสินค้ากลุ่มดังกล่าวได้ เช่น หลอดเจลล้างมือ ขวดยา ฯลฯ

ปัจจุบัน SCGP มีโรงงานผลิตในฐานที่ตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย ธุรกิจของ SCGP ประกอบด้วย 2 สายธุรกิจหลักคือ (1) สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Integrated Packaging Chain) ที่มีผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย และ (2) สายธุรกิจเยื่อและกระดาษ (Fibrous Chain) โดยร้อยละ 52 ของรายได้จากการขายมาจากการจัดจำหน่ายภายในประเทศไทย และที่เหลือมาจากการจัดจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ SCGP ยังมีลูกค้าที่อยู่ในภูมิภาคอื่น ๆ รวมทั้งสิ้นประมาณ 20 ประเทศทั่วโลก

สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งถือเป็นเมกะเทรนด์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนวิกฤตโรคระบาดนั้น SCGP ได้เล็งเห็นศักยภาพการเติบโตของธุรกิจเหล่านี้โดยเฉพาะในประเทศไทย ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศเวียดนาม และประเทศฟิลิปปินส์ สอดคล้องกับข้อมูลจาก ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน ที่จัดทำ ณ สิงหาคม 2563 ที่คาดว่าตลาดอีคอมเมิร์ซ (มูลค่าสินค้าทั้งหมด) ใน 4 ประเทศนี้จะเติบโตเฉลี่ยกว่าร้อยละ 30.4 ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2562-2567 เป็นที่มาที่ทำให้ SCGP เข้าไปตั้งฐานการผลิตในกลุ่มประเทศดังกล่าว

และยังมีกลยุทธ์ที่ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ SCGP เป็นธุรกิจที่มองข้ามไม่ได้คือ การควบรวมกิจการและร่วมมือทางธุรกิจ (Merger and Acquisition (M&A)) โดยล่าสุดในปี 2562 บริษัทฯ มีการลงทุนขยายธุรกิจในรูปแบบนี้กว่า 25,000 ล้านบาท

ไม่เพียงแต่การขยายธุรกิจจากภายนอก (Inorganic) อย่างการควบรวมกิจการ แต่ SCGP ยังเดินหน้าขยายธุรกิจภายใน (Organic) ไปพร้อมกัน โดยปัจจุบัน SCGP อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานเพื่อขยายกำลังการผลิตอีก 4 แห่ง ในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศอินโดนีเซีย ด้วยเงินลงทุนประมาณ 8,200 ล้านบาท โดยคาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จในช่วงครึ่งหลังปี 2563 – ประมาณกลางปี 2564

เมื่อมองผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของ SCGP พบว่าบริษัทฯ มีรายได้จากการขายเติบโตต่อเนื่องในปี 2559-2562 อยู่ที่ 74,542 ล้านบาท 81,455 ล้านบาท 87,255 ล้านบาท และ 89,070 ล้านบาท ตามลำดับ หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6.1 ขณะที่กำไรสุทธิในช่วงปี 2559-2562 อยู่ที่ 3,285 ล้านบาท 4,425 ล้านบาท 6,065 ล้านบาท และ 5,269 ล้านบาท ตามลำดับ หรือเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 17.0

ในส่วนผลการดำเนินงานล่าสุดช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ SCGP มีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 45,903 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,636 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดย EBITDA ในครึ่งปีแรกเท่ากับ 9,027 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากการขยายกำลังการผลิตและการควบรวมกิจการในอาเซียน

สำหรับการ IPO ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ คงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ SCGP สามารถสร้างการเติบโตและต่อยอดทางธุรกิจ เพื่อรักษาการเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรของภูมิภาค และน่าจะเป็นหุ้นอีกหนึ่งตัวที่อยู่ในเรดาร์ของนักลงทุนที่กำลังมองหาหุ้นเติบโตหรือ Growth Stock ที่ธุรกิจมั่นคง และมีโอกาสเติบโตควบคู่ไปกับเมกะเทรนด์ต่าง ๆ ในอนาคต

แหล่งข้อมูล
(1) รายงานการวิจัยทางการตลาดแบบอิสระของ ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน
(2) ร่างแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนฉบับเต็มของ SCGP ซึ่งได้ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ www.sec.or.th

รู้จักหุ้น IPO ตัวใหม่ SCGP ผู้นำวงการบรรจุภัณฑ์อาเซียนที่เน้นเติบโตอย่างยั่งยืน

เมื่อพูดถึง SCC หรือ ปูนซิเมนต์ไทย เชื่อว่าหลายคนจะมีภาพจำว่าเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว รายได้ของ SCC นั้นมาจากธุรกิจหลัก 3 กลุ่มธุรกิจด้วยกัน ได้แก่

  1. ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง
  2. ธุรกิจเคมิคอลส์
  3. ธุรกิจแพคเกจจิ้ง

ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (“SCGP”) มีสัดส่วนรายได้คิดเป็นร้อยละ 23 ของ SCC โดยเมื่อดูแนวโน้มการเติบโตของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2562 จะเห็นว่ากลุ่มธุรกิจแพคเกจจิ้งมีแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจและรายได้ที่น่าสนใจ

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจแพคเกจจิ้งจะดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทลูกของ SCC อย่าง บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง หรือ SCGP ซึ่ง SCGP ก็กำลังจะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนมาใช้ในการขยายกำลังการผลิต และเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ มุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน

ทำความรู้จัก SCGP ว่าที่หุ้น IPO ตัวใหม่

SCGP หรือ บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร ประกอบด้วย 2 สายธุรกิจหลัก คือ

  1. สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร
  2. สายธุรกิจเยื่อและกระดาษ

โดยรายได้จากการขายส่วนใหญ่จะมาจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ เฉลี่ยประมาณร้อยละ 84 จากสัดส่วนรายได้จากการขายทั้งหมด ส่วนอีกประมาณร้อยละ 16 ที่เหลือจะเป็นรายได้ที่มาจากธุรกิจเยื่อและกระดาษ และหากนับตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2562 รายได้จากการขายของ SCGP นั้นก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี จากการที่รายได้จากการขายในธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (Compound Annual Growth Rate) จะเท่ากับ 8.50% ต่อปี โดยในครึ่งปีแรกของปี 2563 รายได้เติบโตร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

เจาะลึกแต่ละธุรกิจของ SCGP

  1. ธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร สามารถแยกได้เป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่
    • บรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ (PPP) เป็นบรรจุภัณฑ์ชั้นในที่สัมผัสกับสินค้าอุปโภคบริโภคโดยตรง มีทั้งบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว และบรรจุภัณฑ์แบบคงรูป โดยสัดส่วนรายได้จากกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมาจากผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว

    • บรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ ซึ่งจะมีทั้งบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกและบรรจุภัณฑ์กล่องพิมพ์สีเพื่อการแสดงสินค้า โดยสัดส่วนรายได้ของกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมาจากบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูก

    • กระดาษบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะมีทั้งกระดาษบรรจุภัณฑ์ และ ผลิตภัณฑ์กระดาษอื่น ๆ โดยสัดส่วนรายได้ของกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมาจากกระดาษบรรจุภัณฑ์

    นอกจากนี้ SCGP ยังให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจรในทั้งสามกลุ่ม ซึ่งจะมีศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร “อินสไปร์ สตูดิโอ (Inspired Studio)” คอยช่วยด้านการออกแบบ และการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย

    และหากดูสัดส่วนรายได้จากการขายของทั้งสามกลุ่ม ธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์จะมีสัดส่วนรายได้จากการขายมากที่สุด รองลงมาจะเป็นธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ และสุดท้ายจะเป็นกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 สัดส่วนรายได้จากการขายของทั้งสามกลุ่มจะเท่ากับ 51%, 25% และ 8% ตามลำดับ

  2. ธุรกิจเยื่อและกระดาษ ซึ่งสามารถแบ่งผลิตภัณฑ์ได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
    • ภาชนะบรรจุอาหาร โดย SCGP จะมีแบรนด์ Fest ที่เป็นแบรนด์หลักที่นำเสนอภาชนะบรรจุอาหารที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบรนด์ Fest

    • ผลิตภัณฑ์เยื่อและกระดาษ ซึ่งจะมีทั้งกระดาษพิมพ์เขียน และเยื่อประเภทต่าง ๆ

    โดยสายธุรกิจเยื่อและกระดาษนี้ จะมีสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่มาจากผลิตภัณฑ์เยื่อและกระดาษ

นอกจากนี้ SCGP ยังได้เข้าไปลงทุนในบริษัทชั้นนำอื่น ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อเสริมจุดแข็งให้แก่ผลิตภัณฑ์ สร้างศักยภาพการเติบโต รวมถึงขยายตลาดไปยังทั่วทวีปเอเชีย โดยได้เข้าไปซื้อหุ้นของบริษัท เช่น

  • เข้าซื้อหุ้นบริษัท Interpress Printers Sendirian Berhad (IPSB) ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจบรรจุภัณฑ์สัมผัสอาหารในประเทศมาเลเซีย
  • เข้าซื้อหุ้นบริษัท Tin Thanh Packing Joint Stock (BATICO) ในประเทศเวียดนาม เพื่อการขยายเข้าสู่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัวในประเทศเวียดนาม
  • เข้าซื้อหุ้นบริษัท Fajar Surya Wisesa Tbk. ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์อันดับต้น ๆ ของประเทศอินโดนีเซีย
  • เข้าซื้อหุ้นบริษัท Visy Packaging Thailand ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้านบรรจุภัณฑ์แบบคงรูป

สำหรับกลุ่มลูกค้าของ SCGP นั้น ปัจจุบันมีฐานลูกค้าจำนวนมาก ตั้งแต่บริษัทชั้นนำระดับประเทศ บรรษัทข้ามชาติ ไปจนถึงผู้ค้าปลีกในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งลูกค้าของ SCGP ส่วนใหญ่จะทำธุรกิจอยู่ในตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม อีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์

ทั้งนี้ รายได้จากการขายจะมาจากลูกค้าที่อยู่ในประเทศไทยเป็นหลัก โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 SCGP มีรายได้จากการขายให้แก่ลูกค้าที่มีที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 52 ส่วนอีกร้อยละ 48 ที่เหลือจะเป็นรายได้จากการขายที่มาจากลูกค้าที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศเวียดนาม ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย

ด้านฐานะทางการเงินของ SCGP

ในปี 2562 SCGP มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 139,513 ล้านบาท แบ่งเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน 35,383 ล้านบาท และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน 104,130 ล้านบาท ด้านหนี้สิน SCGP มีหนี้สินทั้งหมด 76,697 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้สินหมุนเวียน 54,014 ล้านบาท และหนี้สินไม่หมุนเวียน 22,683 ล้านบาท และมีส่วนผู้ถือหุ้นทั้งสิ้น 62,816 ล้านบาท ในขณะที่งวดล่าสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2563 SCGP มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 144,360 ล้านบาท และในส่วนหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 78,946 ล้านบาท และ 65,414 ล้านบาท ตามลำดับ

ด้านอัตราส่วนทางการเงิน ในปี 2562 SCGP มีอัตราส่วนสภาพคล่อง 0.7 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 1.2 เท่า ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นในปี 2562 อยู่ที่ 0.9 เท่า

สำหรับไตรมาส 2 ของปีนี้ อัตราส่วนสภาพคล่องของ SCGP อยู่ที่ 0.6 เท่า อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 1.1 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น อยู่ที่ 0.8 เท่า

ด้านผลการดำเนินงานของ SCGP

ในปี 2562 SCGP มีรายได้จากการขายรวม 89,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 2.1 ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้จากการขายในกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรที่เพิ่มขึ้นมากกว่า โดยมีสาเหตุหลักมาจากการรวมผลการดำเนินงานจากกิจการบริษัท Fajar Surya Wisesa Tbk. และ Visy Packaging Thailand ที่ SCGP ได้เข้าไปควบรวม แม้รายได้จากการขายในกลุ่มธุรกิจเยื่อและกระดาษจะลดลงก็ตาม ขณะที่ครึ่งปีแรกของปีนี้ SCGP มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 45,903 ล้านบาท เติบโตกว่าร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ อัตราส่วนกำไรขั้นต้นสำหรับปี 2562 จะเท่ากับร้อยละ 19.6 แม้จะลดลงจากปี 2561 ซึ่งเท่ากับร้อยละ 20.8 เล็กน้อย แต่หากดูตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2562 ก็จะเห็นว่า SCGP มีการรักษาอัตรากำไรขั้นต้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็แสดงถึงความสามารถในการควบคุมต้นทุนที่ดี โดยในงวดครึ่งปีแรกของปี 2563 SCGP มีอัตราส่วนกำไรขั้นต้นอยู่ที่ร้อยละ 22.5

ด้านกำไรสำหรับปี ในปี 2562 SCGP มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 5,269 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 13.1 ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กำไรสุทธิในปี 2562 ลดลง ก็เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมจาก SCC เพื่อเป็นเงินทุนในการควบรวมกิจการบริษัท Fajar Surya Wisesa Tbk. และการบันทึกการรวมเงินกู้ยืมของบริษัทต่าง ๆ ที่บริษัทควบรวมกิจการมา ส่วนช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ SCGP มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,636 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

เปิดจุดเด่น และ ส่องศักยภาพการเติบโตในอนาคต

  1. SCGP มีรูปแบบธุรกิจแบบบูรณาการในแนวตั้งจากขั้นต้นจนถึงขั้นปลาย ซึ่งเริ่มตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นต้น การผลิตบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงการจัดส่งผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ให้แก่ลูกค้า
  2. SCGP มีการขยายฐานการดำเนินงานในภูมิภาคอาเซียนด้วยกลยุทธ์การเติบโตผ่านการควบรวมกิจการ โดยมุ่งเน้นโอกาสที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงสุด และเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับรูปแบบธุรกิจเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้
  3. SCGP มีฐานลูกค้าในหลายประเทศและหลายอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นบรรษัทข้ามชาติและบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ทำให้ SCGP สามารถกระจายความเสี่ยงไปยังหลาย ๆ อุตสาหกรรม ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง
  4. SCGP ดำเนินธุรกิจอยู่ในตลาดที่มีการเติบโตด้านธุรกิจบรรจุภัณฑ์ จากเทรนด์การเติบโตของธุรกิจเดลิเวอรี่ และอีคอมเมิร์ซในอาเซียน ซึ่งจะยิ่งช่วยกระตุ้นการใช้แพคเกจจิ้งเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์และไลฟ์สไตล์ของคนอาเซียน ที่มีทิศทางที่เอื้อให้ใช้แพคเกจจิ้งมากขึ้นอีกด้วย
  5. SCGP มีการมุ่งเน้นกระบวนการผลิตโดยยึดหลัก “เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)” ซึ่งก็คือการใช้ทรัพยากร วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการนำกลับมาใช้ซ้ำ และการรีไซเคิล ซึ่งก็สอดรับกับเทรนด์ที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มใส่ใจในผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของสังคมมากขึ้น

รายละเอียดการ IPO เข้าสู่ตลาดหุ้น

สำหรับเป้าหมายหลักในการเข้าระดมทุนผ่านตลาดหุ้นในครั้งนี้ ก็เพื่อต่อยอดธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการขยายกำลังการผลิตของ SCGP ให้ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้าทั้งห่วงโซอุปทาน และการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อขยายโอกาสการเติบโตอย่างมั่นคง รวมทั้งเพื่อชำระคืนเงินกู้ยืม และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ โดย SCGP จะทำการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,127.6 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 26.5 ของทุนชำระแล้ว และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินจำนวนไม่เกิน 169.1 ล้านหุ้น โดยที่หลังขายหุ้น IPO ไปแล้ว SCC ก็ยังจะคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน SCGP

ผู้ลงทุนสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของการเสนอขายครั้งนี้ได้จากร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ที่ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ที่นี่

โอกาสลงทุนยุค New Normal

ถ้าถามว่ามีธุรกิจอะไรบ้างที่ยังเติบโตในช่วงวิกฤต COVID-19?

หลายคนคงนึกถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) หรือธุรกิจบริการรับส่งอาหาร (Food Delivery) ซึ่งเห็นชัดว่าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จากเดิมที่เป็นที่นิยมเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ที่ใช้สมาร์ตโฟน จนกระทั่งการเกิดวิกฤตใหญ่ COVID-19 ทำให้คนทุก Generation จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยการหันมาใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่าง ๆ บนโลกออนไลน์มากขึ้น

นอกจากนี้ สินค้าเกี่ยวกับการดูแลสุขอนามัย (Healthcare) ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งคำตอบที่หลายคนนึกถึง เพราะจะเห็นว่าผู้คนได้ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความสะอาดเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทเจลล้างมือ แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ และหน้ากากอนามัยที่มีความต้องการใช้พุ่งสูงจนกลายเป็นสินค้าหายากในช่วงเวลาหนึ่ง

ยังมีอีกหนึ่งธุรกิจที่เป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานและมีศักยภาพเติบโตไปกับอุตสาหกรรมเหล่านี้ นั่นคือ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ซึ่งกำลังจะมีผู้ผลิตและให้บริการบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนเตรียมจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

‘บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง’ (“SCGP” หรือ “บริษัทฯ”) ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน

SCGP เป็นธุรกิจ 1 ใน 3 กลุ่มธุรกิจหลักของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (“SCC”) ซึ่งเมื่อดูผลการดำเนินงานล่าสุดในช่วงครึ่งปีแรก 2563 พบว่า ธุรกิจบรรจุภัณฑ์สามารถสร้างการเติบโตท่ามกลางวิกฤต COVID-19 จากการเป็นธุรกิจที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค สำหรับธุรกิจของ SCGP แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ประกอบด้วย สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Integrated Packaging Chain) และสายธุรกิจเยื่อและกระดาษ (Fibrous Chain) โดยปัจจุบันมีบรรจุภัณฑ์ครอบคลุมและหลากหลาย และมีฐานการผลิต 5 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ SCGP ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ทำให้บรรจุภัณฑ์ของบริษัทฯ สามารถรองรับการใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ และเป็นเหตุผลที่ทำให้ SCGP มีฐานลูกค้ากระจายอยู่ในธุรกิจต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โลจิสติกส์ และอีคอมเมิร์ซ โดยปัจจุบันสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ไปกว่า 20 ประเทศทั่วโลก

การทำธุรกิจคงไม่อาจหยุดนิ่งอยู่กับที่ เพราะสังคมและผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปทุก ๆ วัน SCGP จึงวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ทำให้บรรจุภัณฑ์และโซลูชันของ SCGP มีความแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น ๆ ซึ่งไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ของลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงไลฟ์สไตล์การใช้งานของผู้บริโภคด้วย อย่างเช่น บรรจุภัณฑ์ Optibreath สำหรับบรรจุผักและผลไม้สดซึ่งช่วยยืดอายุในการเก็บรักษาได้นานขึ้น จึงตอบโจทย์ทั้งด้านผู้ประกอบการที่สามารถเก็บรักษาสินค้าให้นาน ที่สำคัญ ยังเป็นการช่วยลดปริมาณขยะจากอาหารที่เน่าเสียอีกด้วย

ในส่วนภาพรวมครึ่งปีแรกที่เกิดภาวะโรคระบาดใหญ่หรือ Pandemic จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกนั้น SCGP ยังคงมีตัวเลขการเติบโตโดดเด่น จากแผนกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นแพคเกจจิ้งสำหรับ B2B2C ที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบรวมถึงพัฒนาโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านบรรจุภัณฑ์แก่ลูกค้าแบบเฉพาะรายและร่วมทำงานกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด จึงทำให้เกิดฐานลูกค้าที่แข็งแรงและได้รับคำสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และการขยายธุรกิจด้วยการควบรวมกิจการ (Merger & Partnership) โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 45,903 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 11 และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,636 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 40

ปัจจุบัน SCGP มีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างเพื่อขยายกำลังการผลิตรวม 4 โรงงาน ในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศอินโดนีเซีย ด้วยเงินลงทุนประมาณ 8,200 ล้านบาท โดยจะทยอยแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2563-2564 และอยู่ระหว่างการเข้าซื้อกิจการโรงผลิตกล่องกระดาษลูกฟูกรายใหญ่ในประเทศเวียดนาม ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพให้ SCGP สามารถรักษาตำแหน่งผู้นำในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจรของภูมิภาคอาเซียน และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น

เร็ว ๆ นี้ SCGP เตรียมนำบริษัทฯ เข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,127,550,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.5 ของจํานวนหุ้นสามัญที่ออกและชําระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment) จำนวนไม่เกิน 169,130,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายทั้งหมดในครั้งนี้ เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจ ด้วยการขยายกำลังการผลิต (Organic) การควบรวมกิจการแบบ Merger & Partnership (Inorganic) ชำระคืนเงินกู้ยืม และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ

โดยนักลงทุนที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หนังสือชี้ชวนในเว็บไซต์สำนักงาน ก.ล.ต. หรือเว็บไซต์ www.scgpackaging.com

แหล่งข้อมูล
(1) รายงานการวิจัยทางการตลาดแบบอิสระของ ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน
(2) ร่างแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนฉบับเต็มของ SCGP ซึ่งได้ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ www.sec.or.th

SCGP ผู้นำบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน

SCGP ผู้นำบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน

มีหุ้นที่กำลังจะ IPO ตัวหนึ่งที่น่าสนใจ และนักลงทุนน่าจะอยากทำความรู้จักมากขึ้น ผมขออาสาพาไปรีวิวดูในภาพรวมทั้งหมดที่คุณควรจะรู้ก่อนตัดสินใจลงทุน ไม่ว่าจะตอน IPO หรือหลังจากที่หุ้นเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วก็ตาม บริษัทนี้ก็คือ บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งตัวย่อในตลาดที่เราจะเห็นกันก็คือ “SCGP” นะครับ มีอะไรบ้างที่คุณต้องรู้ เราไปดูกัน

SCGP ทำธุรกิจอะไร?

SCGP เป็นผู้ผลิตและให้บริการบรรจุภัณฑ์ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเอสซีจี (SCC) โดยดำเนินธุรกิจใน 5 ประเทศได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย ประกอบด้วย 2 สายธุรกิจหลัก คือ

  1. สายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Integrated Packaging Chain) ซึ่งมี
    1. บรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ (Fiber-Based Packaging)
    2. กระดาษบรรจุภัณฑ์ (Packaging Paper)
    3. บรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ (Performance and Polymer Packaging)

  2. สายธุรกิจเยื่อและกระดาษ (Fibrous Chain) คือ จำหน่ายบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุอาหาร (Food Service Products) และผลิตภัณฑ์เยื่อและกระดาษ (Pulp and Paper Products)

    โดยสัดส่วนรายได้ของทั้ง 2 สายธุรกิจก็ตามนี้ครับ

    หมายเหตุ:
    คำนวณเป็นร้อยละของรายได้รวมจากการขายของบริษัทฯ
    ข้อมูลตามส่วนงานแต่ละส่วนของสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรนำมาจากข้อมูลทางการเงินสำหรับผู้บริหารที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบหรือสอบทานจากผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ
    สุทธิจากการตัดรายการระหว่างสายธุรกิจ

สายธุรกิจหลักอย่างบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรมีรายได้ที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่องซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่สายธุรกิจเยื่อและกระดาษมียอดขายที่ลดลงเนื่องจากความต้องการกระดาษพิมพ์เขียนลดลง

ทำไม SCGP จึงเป็นธุรกิจดาวรุ่ง (Rising Star) ของ SCC และกำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

หลายคนอาจจะทราบอยู่แล้วว่า SCC ประกอบไปด้วย 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจเคมิคอลส์, ธุรกิจซิเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และสุดท้ายคือ ธุรกิจแพคเกจจิ้ง หรือ SCGP นั่นเอง ซึ่งรายได้ของ SCGP เมื่อเทียบกับภาพรวมในเอสซีจีนั้นมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 23

จากอัตราการเติบโตของยอดขายและกำไร ขอสรุปปัจจัยหลัก 4 ข้อคือ

  1. จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและการเติบโตของธุรกิจ E-commerce ในช่วงที่ผ่านมาทำให้บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย เป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตที่สูงและยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต
  2. 69% ของรายได้ SCGP ในครึ่งปีแรกของปี 2563 มาจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค เพราะฉะนั้น ธุรกิจของ SCGP จึงไม่ใช่แค่การจำหน่ายให้แก่ลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการหรือ B2B แต่ถือเป็นธุรกิจแบบ B2B2C ที่พัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้งานของผู้บริโภคด้วย
  3. SCGP เร่งการเติบโตให้แก่ธุรกิจโดยใช้กลยุทธ์การควบรวมกิจการและร่วมมือกับพันธมิตร (Merger & Partnership – M&P)
  4. วันนี้ SCGP คือบริษัทชั้นนำในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจรในภูมิภาคอาเซียนอยู่แล้ว การเข้า IPO ก็ถือเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งเพื่อขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งในข้อสามนี้น่าสนใจนะครับ เพราะจาก Track Record การเติบโตในอดีตของ SCGP จะพบว่า SCGP ขยายธุรกิจและเพิ่มการเติบโตผ่านกลยุทธ์ Merger and Partnership (M&P) ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อขยายกำลังการผลิตและเพิ่มความหลากหลายให้กับธุรกิจ

โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา SCGP มีการลงทุน M&P มากถึง 18 โครงการ และในปี 2562 ปีเดียว SCGP ใช้เงินลงทุนในการ M&P 2 โครงการราว 2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้นำด้านกระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเซีย และผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แบบคงรูปชั้นนำในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เพิ่มโอกาสการเติบโตทางธุรกิจได้ดีมากขึ้นไปอีก

และจากกลยุทธ์เหล่านี้ทำให้ SCGP มีฐานการผลิตกว่า 40 โรงงาน ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย ซึ่งข้อมูลจาก Frost & Sullivan ระบุว่า SCGP เป็นผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์และเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน
แสดงว่า SCGP ต้องการโตในต่างประเทศมากขึ้นใช่ไหม?

ถ้าดูจากสัดส่วนรายได้แบ่งตามประเทศลูกค้า จะพบว่า ยอดขายเกินกว่า 50% ยังอยู่ในประเทศไทย (จากรูปด้านล่าง)

โดยกลยุทธ์การเติบโตในระยะยาวของ SCGP ก็คือ นำรูปแบบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยไปขยายในต่างประเทศ โดยใช้กระบวนการบูรณาการทั้งในแนวตั้งคือเพิ่มความแข็งแกร่งระหว่างปลายน้ำกับต้นน้ำ และแนวนอนคือการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและบริการ เพื่อสร้างความใกล้ชิดระหว่าง SCGP กับลูกค้าและมีส่วนร่วมกับลูกค้าในด้านต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น

SCGP ถือหุ้นโดย SCC เป็นส่วนใหญ่?

ใช่ครับ รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ก่อนและหลังการ IPO ครั้งนี้ ก็ตามนี้เลย

ซึ่งเมื่อดูจากตารางก็แปลว่า ก่อนหน้าการ IPO ครั้งนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็คือ SCC เกือบทั้งหมด โดย SCGP จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,127.55 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.5 ของจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment) จำนวนไม่เกิน 169.13 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายทั้งหมดในครั้งนี้ ทำให้สัดส่วนนักลงทุนที่เป็นประชาชนทั่วไปจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่สูงสุดไม่เกินร้อยละ 29.32 ภายใต้สมมติฐานว่ามีการใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนส่วนเกินทั้งจำนวน

จุดแข็งของ SCGP คืออะไร?

จุดแข็งข้อแรกก็คือ การที่บริษัทมีฐานลูกค้าที่กว้างขวาง ในเกือบทุกอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากบริษัทต่าง ๆ ที่นับได้ว่าเป็น Big Player ในแต่ละอุตสาหกรรม โดย SCGP ทำหน้าที่เป็นคู่คิดที่ช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาโซลูชันให้กับลูกค้า อย่างเช่น บรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว Optibreath ที่ช่วยยืดอายุสินค้าประเภทผักและผลไม้ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่ออายุผลิตภัณฑ์หรือ Shelf life ยาวนานขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการขายให้แก่เจ้าของสินค้าด้วย

พอไปดูยอดขายของบริษัทลูกค้าของ SCGP แต่ละราย ไม่ว่าจะอยู่ในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ความงามและสุขภาพ อีคอมเมิร์ซ และธุรกิจขนส่ง ก็พบว่ามีศักยภาพในการเติบโตและไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 มาก

และหากมองภาพใหญ่ระดับโลกจะพบว่า ตลาดบรรจุภัณฑ์ในอาเซียนยังมีพัฒนาการตามหลังประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศเหล่านี้มีอัตราการใช้กระดาษบรรจุภัณฑ์ต่อประชากรสูงกว่าอาเซียนถึง 2-3 เท่า ดังนั้น ในภูมิภาคอาเซียนที่ตอนนี้มีประชากรเกือบ 650 ล้านคน จึงถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและโอกาสเติบโตได้อีกมากสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์

นอกจากนี้ อีกหนึ่งความแข็งแกร่งของ SCGP คือ การมีโรงงานฐานการผลิตกว่า 40 แห่งที่กระจายตัวอยู่ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย จึงมีข้อได้เปรียบเรื่องทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้ลูกค้า สามารถตอบโจทย์ทั้งลูกค้าในระดับท้องถิ่น ไปจนถึงบรรษัทข้ามชาติและผู้ประกอบการรายใหญ่ระดับภูมิภาคที่มีโรงงานผลิตอยู่ในภูมิภาคอาเซียน

SCGP ระดมทุน IPO ครั้งนี้ เอาไปทำอะไร?

SCGP แสดงวัตถุประสงค์ในเว็บไซต์ ก.ล.ต. ไว้ว่า เพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในการขยายธุรกิจด้วยการขยายกำลังการผลิตของบริษัทฯ (Organic) และ/ หรือการควบรวมกิจการ (Inorganic) ซึ่งโครงการขยายกำลังการผลิตที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ มูลค่าการลงทุนรวม 8.2 พันล้านบาทและคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 ก็มีตามนี้ครับ

SCGP โชว์ศักยภาพผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน กำหนดช่วงราคาเสนอขาย IPO 33.50 – 35.00 บาทต่อหุ้น ระยะเวลาการจองซื้อ 28 กันยายน – 7 ตุลาคมนี้ (ขึ้นอยู่กับประเภทของผู้จองซื้อ)

บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (“SCGP”) ชูศักยภาพผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แตกต่าง คาด 4 เมกะเทรนด์หนุนความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในอาเซียนขยายตัวมากขึ้น เตรียมเสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 1,127.6 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 26.5 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over Allotment) อีกไม่เกิน 169.1 ล้านหุ้น รวมคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 29.3 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายในครั้งนี้ (กรณีที่มีการใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินทั้งจำนวน) พร้อมกำหนดช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นที่ 33.50 – 35.00 บาทต่อหุ้น เตรียมเปิดให้จองซื้อในวันที่ 28 กันยายน – 7 ตุลาคมนี้ (ขึ้นอยู่กับประเภทของผู้จองซื้อ)

บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ได้แต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม และแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ 9 ราย เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ประกอบด้วย (1) บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (2) บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ จำกัด (3) บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (4) บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด (5) บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) (6) บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (7) บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) (8) บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ (9) บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า ได้วางกลยุทธ์นำบริษัทฯ รุกขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนเพื่อมุ่งสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน โดยชูศักยภาพเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน มุ่งเน้นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ครอบคลุมทั้งบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ กระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ ทั้งแบบอ่อนตัวและแบบคงรูป บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร เยื่อกระดาษและกระดาษพิมพ์เขียน โดยมีการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งผลให้บริษัทฯ เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ บริษัทฯ มุ่งมั่นพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย ทั้งในด้านรูปแบบ คุณสมบัติและวัตถุประสงค์การใช้งาน โดยมีฐานการผลิตใน 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมที่หลากหลายครอบคลุมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน และสินค้าอุตสาหกรรม

ปัจจุบัน SCGP เป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภค พร้อมต่อยอดการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ซึ่งมีคุณสมบัติในการทำหน้าที่ปกป้องสินค้า ช่วยสร้างแบรนด์และเพิ่มความโดดเด่นแก่ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ SCGP ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่

“เรามองว่าอาเซียนเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคนและมี 4 เมกะเทรนด์ที่จะส่งผลดีต่อปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์ ได้แก่ อัตราการบริโภคบรรจุภัณฑ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์จากพอลิเมอร์ที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรและไลฟ์สไตล์ การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น” นายวิชาญกล่าว

นายกุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า จากการปรับโมเดลธุรกิจของ SCGP จากอุตสาหกรรมการผลิตสู่การเป็น Packaging Solutions Provider โดยมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจทั้งแบบ B2B B2B2C และ B2C ตลอดจนการเร่งขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการแบบครบวงจรเพิ่มขึ้น การพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย และการขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อการเติบโต โดยผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2563 มีรายได้จากการขายรวม 45,903 ล้านบาท เติบโต 11% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แม้มีการระบาดของโรค COVID-19 ปัจจัยเกื้อหนุนมาจากบรรจุภัณฑ์สำหรับอีคอมเมิร์ซ ฟู้ดเดลิเวอรี่ อาหารส่งออก สินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพและสุขอนามัย

โดยในปี 2563 บริษัทฯ ได้ทำการเจรจาและลงนามในสัญญาซื้อหุ้นกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Bien Hoa Packaging Joint Stock Company (SOVI) ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกรายใหญ่ในเวียดนามที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ นอกจากนี้อยู่ระหว่างขยายกำลังผลิตอีก 4 โครงการ ในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศฟิลิปปินส์ ใช้งบลงทุนรวมกว่า 8,200 ล้านบาท ซึ่งทยอยแล้วเสร็จในปี 2563–2564 ช่วยเพิ่มความสามารถการผลิตบรรจุภัณฑ์และขยายส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น และล่าสุดบริษัทฯ เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) เพื่อระดมทุนนำมาใช้ขยายธุรกิจ ชำระเงินกู้และเป็นเงินทุนหมุนเวียน

นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม กล่าวว่า ขณะนี้แบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. และแบบ Filing ของ SCGP มีผลใช้บังคับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบัน SCGP มีทุนจดทะเบียน 4,500 ล้านบาท โดยเป็นทุนที่ออกและชำระแล้ว 3,126 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 3,126 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 1,127.6 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 26.5 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ (ไม่รวมหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน อาจใช้สิทธิซื้อหุ้น IPO จากบริษัทฯ ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) นอกจากนี้อาจจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over Allotment) จำนวนไม่เกิน 169.1 ล้านหุ้น รวมคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 29.3 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังเสนอขายครั้งนี้ (กรณีที่ใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินทั้งจำนวน) ทั้งนี้ จำนวนหุ้นที่เสนอขายสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทฯ ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และผู้ซื้อหุ้นเบื้องต้นในต่างประเทศ (ถ้ามี)

ล่าสุด SCGP ได้กำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 33.50 – 35.00 บาทต่อหุ้น จากนั้นจะสำรวจความต้องการจองซื้อหุ้น IPO ของนักลงทุนสถาบัน (Bookbuilding) เพื่อกำหนดราคาเสนอขายสุดท้ายซึ่งคาดว่าจะประกาศได้ประมาณวันที่ 8 ตุลาคม 2563 โดย กำหนดระยะเวลาจองซื้อของผู้จองซื้อแต่ละประเภท ดังนี้

ผู้ถือหุ้นสามัญของ SCGP ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรร, ผู้ถือหุ้นของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้น, ผู้มีอุปการคุณของ SCGP สามารถจองซื้อได้ในวันที่ 28 กันยายน ถึง 2 ตุลาคม 2563 (เฉพาะวันทำการ)

ผู้จองซื้อรายย่อย สามารถจองซื้อได้ในวันที่ 1, 2 และ 5 ตุลาคม 2563

บุคคลตามดุลพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ สามารถจองซื้อได้ในวันที่ 5-7 ตุลาคม 2563

โดยจะต้องจองซื้อที่ราคา 35.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาเสนอขายสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น (“ราคาจองซื้อ”) อย่างไรก็ตามหากราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่าราคาจองซื้อ จะมีการคืนเงินค่าส่วนต่างแก่ผู้จองซื้อทุกรายหลังสิ้นสุดการเสนอขาย

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม กล่าวว่า SCGP เป็นหุ้น IPO ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน โดยมีกลุ่มนักลงทุนหลักแบบเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) จำนวน 18 ราย ได้ลงนามในสัญญา Cornerstone Placing Agreement รวมทั้งสิ้น 676.53 ล้านหุ้นหรือประมาณ 60% ของจำนวนหุ้น IPO ที่เสนอขายครั้งนี้ (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของนักลงทุนสถาบัน และสะท้อนความเชื่อมั่นในศักยภาพของ SCGP ที่เป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะของลูกค้าแต่ละราย

ขณะที่ความคืบหน้าการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่าจะนำหุ้น SCGP เข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจและเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินแก่ SCGP

ข้อมูลเพิ่มเติม
บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (“SCGP”) ดำเนินธุรกิจให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน เป็นหนึ่งในธุรกิจของเอสซีจีที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีฐานลูกค้าที่กว้างขวางและหลากหลาย ที่เติบโตจากความต้องการของผู้บริโภคที่มีเพิ่มขึ้น (Consumer Growth) ทั้งในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ SCGP ยังมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่มีวัสดุหลากหลายประเภท (Multi-materials) และมีคุณภาพสูง ทั้งผลิตภัณฑ์กระดาษและพอลิเมอร์ พร้อมการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Packaging Solutions Provider) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ พร้อมการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าในทุกระดับได้อย่างครอบคลุมและครบวงจร

หมายเหตุ
การแจกจ่ายเอกสารฉบับนี้ไปยังประเทศหรือเขตอำนาจรัฐอื่น ๆ นอกจากประเทศไทย อาจเป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย ผู้ที่ได้รับเอกสารฉบับนี้ควรศึกษาและปฏิบัติตามข้อจำกัดทางกฎหมายนั้น ๆ เอกสารฉบับนี้ไม่ได้ถูกจัดทำเพื่อการเผยแพร่ การตีพิมพ์ หรือการแจกจ่าย ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในหรือไปยังสหรัฐอเมริกา

เอกสารฉบับนี้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อแจ้งข้อมูลเท่านั้น และไม่ถือเป็นการเสนอขายหรือการชักชวนให้เข้าซื้อหลักทรัพย์ใด ๆ และไม่มีการเสนอขายหรือซื้อหลักทรัพย์ในประเทศหรือเขตอำนาจรัฐใดที่การเสนอขาย การชักชวนการเสนอซื้อ หรือการขายหลักทรัพย์นั้นขัดต่อกฎหมาย หลักทรัพย์ที่กล่าวถึงในเอกสารฉบับนี้ยังไม่ได้นำไปจดทะเบียนภายใต้กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ค.ศ.1933 รวมทั้งที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม (“กฎหมายหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา”) หรือกฎหมายของรัฐใด ๆ ในสหรัฐอเมริกา และจะไม่มีการเสนอขายหรือการขายหลักทรัพย์ดังกล่าวในสหรัฐอเมริกา เว้นแต่จะได้มีการจดทะเบียนหรือได้รับยกเว้นการจดทะเบียนภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา และกฎหมายของรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ไม่มีความประสงค์ที่จะจดทะเบียนไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดหรือว่าทั้งหมดของการเสนอขายหรือหลักทรัพย์ใด ๆ ที่กล่าวถึงในเอกสารฉบับนี้ในสหรัฐอเมริกา หรือดำเนินการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนในสหรัฐอเมริกา

ข้อความในเอกสารฉบับนี้ที่เป็นการคาดการณ์ของตลาดหรือแนวโน้มอุตสาหกรรมนอกเหนือจากที่เป็นข้อเท็จจริงในอดีต เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองในปัจจุบัน สมมติฐาน การประมาณการ อันมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอน จึงมิได้เป็นการรับประกันว่าเหตุการณ์หรือผลลัพธ์ที่คาดการณ์นั้นจะเกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงในสมมติฐานหรือปัจจัยต่าง ๆ อาจทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงแตกต่างจากการคาดการณ์ดังกล่าว

ตำแหน่งยืนจากภาพ เรียงจากซ้ายไปขวา

  1. คุณวรารัตน์ ชุติมิต
    กรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)
  2. คุณพิเชษฐ สิทธิอำนวย
    กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)
  3. ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
    ประธานกรรมการ บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)
  4. คุณวิชาญ จิตร์ภักดี
    ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)
  5. คุณกุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์
    ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)
  6. คุณวศิน ไสยวรรณ
    รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
  7. คุณวีณา เลิศนิมิตร
    ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เอสซีจี แพคเกจจิ้ง แนะนำสินค้าใหม่ ฉากกั้น U-SPACE หลากหลายรูปแบบ รองรับวิถีชีวิต NEW NORMAL

เอสซีจี แพคเกจจิ้ง แนะนำสินค้าใหม่ ฉากกั้น U-space by Doozy Pack ของดีที่ธุรกิจและผู้ประกอบการประเภทต่าง ๆ ต้องมีเพื่อรองรับวิถีชีวิต New Normal ที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม โดย U-Space by Doozy Pack เป็นฉากกั้นที่ทำจากกระดาษลูกฟูก ออกแบบให้มีหลายขนาด และหลายรูปแบบ เช่น ตั้งทรงตัวยู ตัวแอล และตัวไอ เพื่อให้ลูกค้านำไปใช้ได้ในทุกพื้นที่อย่างไม่จำกัด ติดตั้งง่าย สะดวก พับเก็บได้ ไม่เปลืองพื้นที่ อีกทั้งมีลวดลายให้เลือกหลายสไตล์ตามความชอบ นอกจากนี้ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ สามารถเลือกสรรได้แล้ววันนี้ ผู้ที่สนใจแอดไลน์สอบถามได้ที่ @doozypack หรือที่ www.facebook.com/DoozyPack/

เอสซีจี แพคเกจจิ้ง สนับสนุนถุงกระดาษในโครงการ “รวมพลังใจ สู้ภัยโควิด” ให้แก่โรงพยาบาลศิริราช สำหรับนำไปใส่ยาให้แก่ผู้ป่วย

เอสซีจี แพคเกจจิ้ง นำโดย คุณเอกราช นิโรจน์ Marketing Director บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด มอบถุงกระดาษในโครงการ “รวมพลังใจ สู้ภัยโควิด” จำนวน 900 ถุง ให้แก่โรงพยาบาลศิริราช โดยมี รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช เป็นตัวแทนรับมอบ สำหรับนำไปใช้ใส่ยาให้กับผู้ป่วยที่มารับบริการ และใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาล เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อโรคโดยตรง รวมทั้งเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วยในการรับยากลับบ้านอีกด้วย

เอสซีจี แพคเกจจิ้ง พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและช่วยเหลือสังคมให้ก้าวข้ามผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน