เมื่อพูดถึงอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี หลายคนอาจนึกถึงพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญที่มีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 700 แห่ง และประชากรมากถึง 172,000 คน แต่วันนี้ บ้านโป่งกำลังสร้างชื่อในฐานะต้นแบบการจัดการขยะชุมชนที่ประสบความสำเร็จ
.
การเดินทางสู่ชุมชนไร้ขยะของบ้านโป่งเริ่มต้นในปี 2562 ด้วยโครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “บ้านโป่งโมเดล” ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของสามภาคส่วนสำคัญ ได้แก่ ภาคราชการ นำโดยท้องถิ่นอำเภอบ้านโป่งและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 17 แห่ง ภาคเอกชน นำโดย SCGP ที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้และสนับสนุนการลงมือทำ และภาคประชาชน ทั้งผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่
.
หนึ่งในกิจกรรมที่ต่อยอดจากโครงการนี้นั่นก็คือการจัดโครงการประกวด “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” อำเภอบ้านโป่ง โดยในปีนี้เป็นปีที่ 5 ของการจัดการประกวด และมีชุมชนเข้าร่วมมากมาย เรียกได้ว่าแต่ละชุมชนที่ได้รับรางวัลก็มีจุดเด่นในการจัดการขยะที่แตกต่างกันออกไป เรามาดูกันดีกว่าว่าแต่ละชุมชนมีไอเดียจัดการขยะยังไงกันบ้าง
.
🏆 รางวัลยอดเยี่ยม
.
🥇 ชนะเลิศ: บ้านหนองกลางด่าน หมู่ 5 ต.กรับใหญ่ – ใช้เทคนิค “บวร พลัส” จากความร่วมมือกันของคนในชุมชนทั้ง 3 ภาคส่วน บ้าน วัด และโรงเรียน สู่การเปลี่ยนแปลงสร้างชุมชนยั่งยืนได้
🥈 รองชนะเลิศอันดับ 1: ชุมชนดอนกระเบื้องพัฒนา เทศบาลตำบลกระจับ – จากการร่วมมือกันของผู้นำชุมชนทั้งท้องที่และท้องถิ่น สู่กิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ทั้ง “ปลัดเอาถ่าน” – เผาถ่านเองเพื่อใช้ในชุมชน “ปุ๋ยไม่กลับกอง” – ผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากขยะเพื่อนำกลับมาใช้งาน เป็นฐานเรียนรู้ตัวอย่าง ให้ชุมชนและประชาชนได้เรียนรู้ และ “Orange Tree Cafe & Bistro” – ร้านกาแฟสีเขียว ที่มีการนำกากกาแฟเหลือใช้ไปสร้างประโยชน์ให้ต้นไม้ และการจัดการขยะอินทรีย์ในร้านแบบเหลือศูนย์ ไม่เหลือทิ้ง
🥉 รองชนะเลิศอันดับ 2: ชุมชนมายเฮ้าส์หมู่บ้านเจริญสุข เทศบาลเมืองบ้านโป่ง – เป็นหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งการจัดการขยะค่อนข้างยากเนื่องจากความเป็นชุมชนเมือง ได้อาศัยความร่วมมือของทุกหลังคาเรือน ทุกกลุ่มช่วงวัย โดยมีทีมพี่เลี้ยงจาก SCGP เข้าไปให้องค์ความรู้เรื่องการจัดการขยะ ทำให้ชุมชนสามารถแสดงผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม
.
พร้อมรางวัลชมเชย 3 ชุมชน
บ้านโรงข้าวสาร หมู่ที่ 13 ตำบลหนองอ้อ, บ้านหนองทราย หมู่ที่ 4 ตำบลหนองปลาหมอ และบ้านห้วยขวาง หมู่ที่ 11 ตำบลท่าผา
.
นอกจากนี้ ยังมีรางวัลพิเศษที่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์ของชุมชน อย่างบ้านดงมะม่วงที่สร้างเครื่องเสียงจากยางรถยนต์เก่า และบ้านสระสี่มุมที่โดดเด่นด้านการจัดการป่าชุมชนเพื่อลดคาร์บอน
.
ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโครงการนี้คือการขยายผลครอบคลุมทั้ง 183 หมู่บ้านและชุมชนในอำเภอบ้านโป่ง คิดเป็น 100% ของพื้นที่ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” จึงไม่ใช่แค่โครงการประกวด แต่เป็นการพิสูจน์ว่าเมื่อทุกภาคส่วนร่วมมือกัน การจัดการขยะอย่างยั่งยืนไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน และสามารถเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศได้