SCGP Internship : ส่งต่อความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ ผสมผสานทุกเจเนอเรชัน
“ส่งต่อความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ ผสมผสานทุกเจเนอเรชัน”
การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่และทุกเวลา
การเรียนรู้เกิดขึ้นได้จากการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน มุมมองจากทุกคน ทุกวัย
และการเรียนรู้อย่างยั่งยืน เกิดจากการลงมือทำจริง ซึ่งนำไปสู่พัฒนาต่อยอดที่ดีขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
SCGP สนับสนุนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง พร้อมเปิดรับและพร้อมส่งต่อไปยังทุกคนรอบข้าง เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ในแต่ละปี SCGP เปิดโอกาสน้อง ๆ นักศึกษาฝึกงานได้มาร่วมสัมผัสประสบการณ์ในการทำงาน เป็นเวทีให้น้อง ๆ ได้นำความรู้ในห้องเรียนมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานจริง เพื่อเป็นพื้นฐานก่อนเข้าสู่ชีวิตการทำงานหลังจากจบการศึกษา
ตลอดระยะเวลากว่า 2 เดือน น้อง ๆ ทั้ง 11 คนจากต่างคณะ ต่างสถาบัน ได้ไปฝึกงานตามหน่วยงานต่าง ๆ ใน SCGP วันนี้ เรามีบทสัมภาษณ์ความรู้สึก ความประทับใจและสิ่งที่ได้เรียนรู้ตลอดการเดินทางของน้อง ๆ มาแบ่งปันกัน
—————————————————————————————————————————————————–
“ผมรู้สึกประทับใจ SCGP ที่มีความใส่ใจ ตั้งแต่การจัดหาที่พักให้และการจัดหาแผนกที่เราฝึกงานให้ตรงกับสิ่งที่เราต้องการเรียนรู้ พี่ ๆ มีความเป็นกันเองมากครับ ตั้งแต่วันแรกที่ได้เข้าไปก็รู้สึกเหมือนเป็นน้องเฟรชชี่ที่มีพี่เลี้ยงคอยดูแลคอยสอนการทำงานให้ รู้สึกดีใจมากที่ได้มาเรียนรู้การทำงานที่ SCGP ครับ”
สิ่งที่ได้เรียนรู้
- การทำงานเป็นระบบภายในแผนก การแบ่งหน้าที่ในการดูแลเครื่องจักร แบ่งพื้นที่ในการจัดการเพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน
- การใช้โปรแกรมในการตรวจเช็คสภาพระบบ Control Valve เพื่อวางแผนการซ่อม
- การทำงานร่วมกับพี่ทีมช่าง ทำให้ได้เห็นการทำงานจริงมากขึ้นและรู้จักการปรับตัวเข้ากับผู้อื่นมากขึ้น
นายวรรณกร อินทร์ปิ่น (แต้)
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง
ฝึกงานที่ BP Paper Electrical Maintenance 2 – บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด
—————————————————————————————————————————————————–
“รู้สึกดีใจและประทับใจการทำงานของพี่ ๆ ในบริษัทมาก พี่ ๆ ดูแลเป็นอย่างดีและช่วยเหลือในทุกเรื่อง รู้สึกเป็นกันเอง อาจจะความกดดันในการทำงานบ้าง แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี อีกสิ่งหนึ่งคือ การมีเพื่อนฝึกงาน ได้รู้จักและสร้างมิตรภาพกับเพื่อนจากต่างมหาวิทยาลัย เป็นความรู้สึกที่ดีและมีความสุขมากค่ะ”
สิ่งที่ได้เรียนรู้
- ความตรงต่อเวลาในการทำงานของพี่พนักงานและทุกคนในบริษัท
- การนำเสนองาน ให้มีความจริงจังและมีความน่าเชื่อถือ
- การเรียนรู้การทำงานของเครื่องจักร ซึ่งเป็นความรู้ใหม่และได้รับความรู้เป็นอย่างมาก
นางสาวสมฤทัย แตงอ่อน
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร
ฝึกงานที่ Energy Division – SCG Paper Energy
—————————————————————————————————————————————————–
“ถึงจะไม่ได้มีโอกาสเข้าออฟฟิศเนื่องจาก Work from Home ทำให้ไม่ได้เจอพี่ ๆ ได้ฝึกงานผ่านทางออนไลน์ ก็รู้สึกดีและสนุกไปอีกแบบ ขอบคุณพี่ ๆ ทุกคนที่คอยสอน คอยให้คำแนะนำต่าง ๆ นะคะ”
สิ่งที่ได้เรียนรู้
- ประสบการณ์การทำงานในองค์กรใหญ่
- มิตรภาพและความเอาใจใส่จากพี่ ๆ ในทีม
- ทักษะการใช้ชีวิตในโลกของการทำงานจริง
นางสาวปิณฑิรา พานิชเจริญดี (คาราเมล)
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ฝึกงานที่ Brand Management Office – SCGP
—————————————————————————————————————————————————–
“พี่เลี้ยงและพี่ ๆ วิศวกร คอยดูแลและช่วยเหลือเรื่องงาน และยังช่วยสอนเกี่ยวกับทฤษฎีอีกด้วย ทุกคนน่ารักและเป็นกันเอง นอกจากเรื่องงาน ดูแลเรื่องที่พัก ตอนที่มีปัญหาก็สามารถติดต่อและขอความช่วยเหลือได้ตลอดเลยค่ะ”
สิ่งที่ได้เรียนรู้
- การเรียนรู้การทำงานจริง และประสบการณ์ในการทำงาน ทั้งในออฟฟิศและหน้างานจริง
- ความรู้เกี่ยวกับสายงานวิศวกรรมไฟฟ้าเกี่ยวกับโซล่าร์เซลล์
- การทำงานร่วมกับผู้อื่น และเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กร
นางสาวผกามาส ธีรสุวรรณจักร (นุ่น)
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ฝึกงานที่ Energy Division – SCG Paper Energy
—————————————————————————————————————————————————–
“พี่ ๆ ทุกคนคอยช่วยเหลือทุกอย่างทั้งเรื่องงานและเรื่องอื่น ๆ ดูแลอย่างดี ทั้งเลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำเลยครับ”
สิ่งที่ได้เรียนรู้
- ความรู้ในสายงานจากการทำงานในบริษัท
- บรรยากาศในการการทำงาน
- กระบวนการทำงานในโรงงาน
นายนพณัฐ มังคลาด (นนท์)
คณะวิศวกรรมศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ฝึกงานที่ Technology and Digital Platform – SCGP
—————————————————————————————————————————————————–
“รู้สึกประทับใจตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เข้าไปทำงาน บริษัทใส่ใจนักศึกษาฝึกงานมาก และให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยกับบุคลากรทุกคน พี่ ๆ เป็นตัวอย่างในการทำงานที่ดี คอยสอนงานและความรู้เพิ่มเติมตลอดค่ะ”
สิ่งที่ได้เรียนรู้
- การเรียนรู้ขั้นตอนการทำงานเรียนรู้ในด้านที่สนใจ
- ประสบการณ์และบรรยากาศของการทำงานอย่างมีคุณภาพ
- การทำงานเป็นทีม การสื่อสารกับผู้อื่น การปรับตัว และการบริหาร จัดการเวลา
นางสาวณิชชารีย์ กิจตระกูลรัตน์ (ป๋วย)
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ฝึกงานที่ Energy Division – SCG Paper Energy
—————————————————————————————————————————————————–
“พี่ในแผนกใจดี น่ารัก มีพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือดูแลอยู่ตลอด ได้ใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อน ๆ ที่ฝึกงานด้วยกัน เพื่อนน่ารักมากๆ อาหารมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ สถานที่เที่ยวสวย และคาเฟ่ที่บ้านโป่งเยอะ ชอบมากเลยค่ะ”
สิ่งที่ได้เรียนรู้
- ขั้นตอนการผลิตกระดาษบรรจุภัณ์ ระบบบำบัดน้ำเสีย
- ทักษะการใช้ Streamlit และ การเขียนโค้ด Python
- การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำการพยากรณ์ในด้านต่าง ๆ
นางสาวณัฐกานต์ พัวพันธ์สุดดี (คิตตี้)
สาขาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฝึกงานที่ APM Data-Driven Transformation – บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด
—————————————————————————————————————————————————–
“พี่เลี้ยงดูแลดีมากๆ คอยอำนวยความสะดวกและแจ้งข่าวอยู่เสมอ เวลาติดปัญหาอะไร ก็ถามพี่ๆ ได้ตลอดเวลา ตอบคำถามเร็วมากครับ เพื่อนที่มาฝึกงานด้วยก็นิสัยดี เป็นกันเอง และคอยช่วยเหลือกันในเรื่องต่าง ๆ “
สิ่งที่ได้เรียนรู้
- การพัฒนาระบบอัตโนมัติ โดยใช้ซอฟต์แวร์ UiPath
- ข้อปฏิบัติต่างๆ ของการทำงานในโรงงาน
- การสื่อสารและขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ ในแผนก System & process optimization
นายลาภิศ ถิระเลิศพานิชย์ (แก๊บ)
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ฝึกงานที่ System & Process Optimization – SCGP
—————————————————————————————————————————————————–
“พี่ ๆ ทุกคนที่หนูได้เจอ ใจดีและเป็นกันเองมากค่ะ พาไปดูกระบวนการผลิตของจริง พร้อมให้คำแนะนำที่ดี นอกจากนี้ยังให้แนวคิดในการทำงานจริงด้วยค่ะ ช่วยสนับสนุนและให้คำปรึกษาเสมอ หากว่าหนูเจอหรือติดปัญหาในการทำงาน”
สิ่งที่ได้เรียนรู้
- กระบวนการทำงานในแต่ละหน่วยงานของบริษัท
- กระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ในการผลิตบรรจุภัณฑ์
- การศึกษาปัญหาและทำการทดลอง เพื่อวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาในการผลิต
นางสาวกมลลักษณ์ ศิริคะรินทร์ (เมจิ)
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฝึกงานที่บริษัทคอนิเมก จำกัดใน SCGP
—————————————————————————————————————————————————–
“ประทับใจ พี่ ๆ ที่คอยให้คำปรึกษาและคำแนะนำ เป็นการทำงานที่เราได้นำความรู้ตัวเองมาใช้จริง และพี่ ๆ ก็เป็นกันเองมาก ๆ ครับ”
สิ่งที่ได้เรียนรู้
- การรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย
- การรับฟังคำแนะนำ เพื่อนำมาปรับปรุงงาน
- การเรียนรู้การทำงานจริง
นายชนกนันทน์ แสนพิมล (คิส)
คณะนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ฝึกงานที่ Brand Management Office – SCGP
—————————————————————————————————————————————————–
“SCGP ให้คุณค่ากับการเรียนรู้ เปิดรับฟังไอเดียใหม่ ๆ และความคิดนอกกรอบเพื่อยกระดับงานที่ทำ ถึงแม้จะได้ฝึกงานในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แต่ก็ได้เรียนรู้เยอะ ได้แสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนกับพี่ ๆ และพี่ ๆ ที่ SCGP เคารพทุกความคิดจากทุกคนในองค์กรรวมถึงน้องฝึกงานอย่างหนูด้วยค่ะ”
สิ่งที่ได้เรียนรู้
- ทักษะการสื่อสารและประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ
- การวางแผนโครงการตั้งแต่ต้นจนจบ
- การลงมือทำจริง ยอมรับ และเรียนรู้ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น
นางสาวสุนิดา ธวิทย์ชัยพร (เน)
คณะวิศวกรรมศาตร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฝึกงานที่ BP Paper Maintenance บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด
—————————————————————————————————————————————————–
และนี่คือโอกาสดีเช่นกันที่ SCGP ได้ร่วมเปิดรับมุมมอง ความคิดเห็นของน้อง ๆ ในเจเนอเรชันนี้
เรียกได้ว่าเป็นการเติมเต็มปรับจูน ผสมผสานความหลากหลายซึ่งกันและกันเพื่อผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น
SCGP และมูลนิธิเอสซีจี ผนึก จุฬาฯ ร่วมพัฒนานวัตกรรมหน้ากาก Respirator “CUre AIR SURE” เตรียมส่งมอบแก่บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า 10,000 ชิ้น
SCGP ผนึก จุฬาฯ ร่วมพัฒนานวัตกรรมหน้ากาก CUre AIR SURE ที่ออกแบบจากความใส่ใจสู่ความปลอดภัยของบุคลากรสาธารณสุข พร้อมร่วมกับมูลนิธิเอสซีจี เตรียมส่งมอบให้แก่บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าจำนวน 10,000 ชิ้น เพื่อใช้ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงสถานการณ์ฝุ่นที่เกิดขึ้น ทำให้เทคโนโลยีการกรองอากาศกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตวิถีใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นความสำคัญและต้องการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพของคนไทย จึงร่วมกับภาคเอกชนในการออกแบบและพัฒนาหน้ากาก Respirator ‘CUre AIR SURE’ เพื่อเป็นนวัตกรรมทางเลือกใหม่ในการสวมใส่หน้ากากกรองฝุ่นและเชื้อโรค โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจาก SCGP และหน่วยงานอื่น ๆ อีกหลายภาคส่วน อาทิ กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันพลาสติก ร่วมทำงานกับทีมคณาจารย์นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จนสามารถผลิตหน้ากาก Respirator แบบครอบครึ่งหน้าที่มีคุณภาพสูง กรองเชื้อแบคทีเรียและกรองอนุภาคขนาดเล็กได้ 99% ผ่านเกณฑ์หน้ากากอนามัยชั้นที่ 1 ตามมาตรฐานสากล Medical Face Mask ASTM F2100
คุณวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวต่อว่า SCGP ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบและผลิตโครงสร้างหน้ากากอนามัยภายใต้นวัตกรรมการออกแบบเพื่อสังคม โดยนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการดีไซน์และผลิตวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์มาต่อยอด เพื่อให้ได้หน้ากากที่รับกับโครงสร้างใบหน้าของคนไทย สวมใส่สบายและมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคและกรองฝุ่นละอองได้ดี โดยออกแบบให้สามารถเปลี่ยนแผ่นกรองได้
คุณสุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการ มูลนิธิเอสซีจี กล่าวด้วยว่า มูลนิธิเอสซีจี ตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา มูลนิธิฯ มีความห่วงใยพี่น้องชาวไทยที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน จึงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือประเทศไทยสามารถเอาชนะวิกฤตครั้งนี้ได้โดยเร็ว โดยที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้มอบนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือบุคลากรสาธารณสุข ผู้ป่วย และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ 77 จังหวัด นอกจากนี้ SCGP ยังได้ร่วมสมทบทุนกับมูลนิธิเอสซีจีเพื่อส่งมอบหน้ากากอนามัย CUre AIR SURE จำนวน 10,000 ชุด ให้กับบุคลากรสาธารณสุขและโรงพยาบาลต่าง ๆ จำนวนกว่า 100 แห่ง ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในด่านหน้า ผ่านเครือข่ายในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
SCGP ยังคงมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) และพร้อมร่วมมือกับองค์กรและเครือข่ายต่าง ๆ ในการพัฒนาและออกแบบนวัตกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือระหว่างกันในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยได้ก้าวผ่านสถานการณ์ที่ท้าทายนี้ไปด้วยกัน
SCGP ปิดดีลเข้าถือหุ้นร้อยละ 75 ใน Intan Group เสริมศักยภาพขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษในประเทศอินโดนีเซีย
SCGP ได้เข้าถือหุ้นร้อยละ 75 ใน Intan Group ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกรายใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย ที่มีฐานลูกค้าในกลุ่มธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภค ต่อยอดด้านการผลิต ซัพพลายเชน และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รองรับการขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียน เริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่สิงหาคมนี้
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตในระยะยาว จึงวางกลยุทธ์ขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษ หลังจากเริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2556 เพื่อต่อยอดธุรกิจบรรจุภัณฑ์ เพิ่มความเข้มแข็งด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์กระดาษ จากปัจจุบันที่มีฐานการผลิต 5 แห่งในประเทศอินโดนีเซีย
ล่าสุด ในวันที่ 13 สิงหาคม 2564 SCGP ได้เข้าถือหุ้น (Merger and Partnership หรือ M&P) ร้อยละ 75 ใน PT Indonesia Dirtajaya Aneka Industri Box, PT Bahana Buana Box และ PT Rapipack Asritama (Intan Group) เพื่อขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นไปตามที่ได้เคยเปิดเผยสารสนเทศต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 โดยดำเนินการผ่าน TCG Solutions Pte. Ltd. (TCGS) ที่ถือหุ้นทั้งหมดโดยบริษัทกลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด (หรือ “TCG”) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง SCGP และ Rengo Company Limited ประเทศญี่ปุ่น ที่สัดส่วนร้อยละ 70:30 ตามลำดับ โดยแบ่งการชำระค่าหุ้นออกเป็นงวดแรกจำนวน 822 พันล้านรูเปียห์ (ประมาณ 1,997 ล้านบาท) และจะชำระค่าหุ้นงวดที่ 2 โดยพิจารณาจากผลประกอบการส่วนเพิ่มของ Intan Group สำหรับงวดปีบัญชี 2565 และ 2566 ซึ่งเมื่อรวมกับเงินที่ชำระในงวดแรกแล้วจะเป็นเงินไม่เกิน 859 พันล้านรูเปียห์ (ประมาณ 2,088 ล้านบาท) และจะเริ่มรับรู้ผลประกอบการของ Intan Group ในงบการเงินรวมของ SCGP ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป
Intan Group เป็นหนึ่งในผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกรายใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย ปัจจุบันดำเนินธุรกิจในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ 4 พื้นที่ ได้แก่ Surabaya ทางทิศตะวันออกของเกาะชวา Semarang ทางตอนกลางของเกาะชวา Bekasi ทางทิศตะวันตกของเกาะชวา และ Minahasa ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะสุลาเวสี โดยมีลูกค้าในกลุ่มธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภค
เมื่อสิ้นสุดปีบัญชี 2563 Intan Group มีรายได้ประมาณ 1,329 พันล้านรูเปียห์ (ประมาณ 3,231 ล้านบาท) มีกำไรสุทธิหลังหักภาษีประมาณ 65 พันล้านรูเปียห์ (ประมาณ 158 ล้านบาท) และมีสินทรัพย์ประมาณ 755 พันล้านรูเปียห์ (ประมาณ 1,836 ล้านบาท)
“การขยายการลงทุนในประเทศอินโดนีเซียจะเพิ่มศักยภาพจากความร่วมมือแบบบูรณาการทั้งด้านการผลิต การตลาด การวิจัย รวมถึงนำเสนอบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายร่วมกับการนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรเพื่อรองรับการขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังเป็นการเน้นย้ำความเชื่อมั่นในการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งของประเทศอินโดนีเซีย” นายวิชาญ กล่าว
SCGP รักษาการเติบโตแข็งแกร่ง ทำรายได้ครึ่งปีแรก 57,148 ล้านบาท พร้อมสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง
SCGP ทำรายได้จากการขายครึ่งปีแรก 57,148 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 รักษาการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์และการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้นในภูมิภาคอาเซียน ทั้งการขยายกำลังการผลิตและ M&P ได้ตามแผนงาน ครึ่งปีหลังเตรียมปิดดีลในอินโดนีเซียและสเปน เดินหน้าแผนการประสานความร่วมมือกับพันธมิตร รวมถึงขยายกำลังการผลิตในอาเซียนแล้วเสร็จ เสริมศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP
เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2564 มีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 57,148 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสำหรับงวด 4,398 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วน EBITDA (กำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ไม่รวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม และรวมกำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกู้ยืม) อยู่ที่ 10,831 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น มาจากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์และการส่งออกสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอาเซียน เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและ อาหารแช่แข็ง เป็นต้น รวมถึงเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป และประเทศจีนเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคโควิด 19 ถึงแม้จะมีแรงกดดันจากต้นทุนด้านพลังงานและภาวะขาดแคลน ตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าทางเรือในช่วงที่ผ่านมา แต่บริษัทฯ ยังคงบริหารจัดการต้นทุน และปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้
และรายได้ที่เพิ่มขึ้นยังมาจากการวางกลยุทธ์ในการรักษาความเป็นผู้นำโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียนและการขยายธุรกิจได้ตามแผนงานที่วางไว้ ทั้งการเข้าควบรวมกิจการ (Merger & Partnership หรือ M&P) กับ Bien Hoa Packaging Joint Stock Company (SOVI) ประเทศเวียดนาม และการเข้าลงทุนใน Go-Pak UK Limited เพื่อขยายตลาดในภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตที่แล้วเสร็จในช่วงที่ผ่านมา เช่น การเพิ่มกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ ในประเทศอินโดนีเซีย, การเพิ่มกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ในประเทศไทย เป็นต้น
SCGP สามารถรักษาการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากการวางกลยุทธ์ขยายธุรกิจผ่านธุรกิจปัจจุบันและ M&P ทั้งในและต่างประเทศ โดยคาดว่าในปี 2564 จะใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อกระจายฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพิ่มพอร์ตบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย รวมถึงมีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม กระบวนการทำงาน และโมเดลธุรกิจ เพื่อนำเสนอโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละราย รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 คณะกรรมการบริษัทอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2564 ในอัตรา 0.25 บาทต่อหุ้น เป็นเงินทั้งสิ้น 1,073 ล้านบาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันที่ 25 สิงหาคม 2564 กำหนดวันที่ XD ในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 และกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล (Record date) วันที่ 10 สิงหาคม 2564
นายวิชาญ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลัง จะได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ทิศทางการดำเนินงานของ SCGP ในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทฯ จะรักษาการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยวางเป้าหมายรายได้จากการขายรวมทั้งปีไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ด้วยการดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ที่วางไว้ และมีโครงการขยายกำลังการผลิต ได้แก่ การขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากกระดาษเพิ่มขึ้นอีก 1,615 ล้านชิ้นต่อปี ที่ประเทศไทยและประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ รวมถึงการขยายกำลัง การผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ในฟิลิปปินส์อีก 220,000 ตันต่อปี และการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์แบบอ่อนตัวในประเทศไทยอีก 53 ล้านตารางเมตรต่อปี ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 4 ปีนี้
“โดยล่าสุด SCGP ได้ปิดดีลการเข้าถือหุ้นร้อยละ 70 ใน Duy Tan Plastics Manufacturing Corporation (Duy Tan) ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูปในเวียดนาม ตามการเข้าทำสัญญาซื้อหุ้นตามที่ได้เปิดเผยสารสนเทศต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 นอกจากนี้ ยังมีดีลที่อยู่ระหว่างดำเนินการซึ่งคาดว่าจะปิดดีลสำเร็จในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ได้แก่ การเข้าถือหุ้นร้อยละ 75 ใน PT Indonesia Dirtajaya Aneka Industri Box, PT Bahana Buana Box และ PT Rapipack Asritama (Intan Group) เพื่อขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษ ในประเทศอินโดนีเซีย และการเข้าถือหุ้นร้อยละ 85 ใน Deltalab, S.L. ประเทศสเปน เพื่อเสริมศักยภาพการให้บริการและการเติบโตของวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ของ SCGP ในระดับโลก ซึ่ง SCGP จะเดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งด้วยการประสานความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในระยะยาวควบคู่กับการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG)” นายวิชาญ กล่าวเพิ่มเติม
SCGP ร่วมเป็นพันธมิตรกับ Duy Tan ในเวียดนาม ต่อยอดความหลากหลายด้านบรรจุภัณฑ์ ตอบสนองดีมานด์ในภูมิภาคอาเซียน
SCGP ร่วมเป็นพันธมิตรกับ Duy Tan ในเวียดนาม
ต่อยอดความหลากหลายด้านบรรจุภัณฑ์ ตอบสนองดีมานด์ในภูมิภาคอาเซียน
SCGP ขยายการลงทุนในประเทศเวียดนาม โดยเข้าถือหุ้น (Merger and Partnership : M&P) ร้อยละ 70 ใน Duy Tan ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกคงรูปในประเทศเวียดนาม เสริมศักยภาพการผลิตที่หลากหลายและครบวงจร รองรับการขยายตลาดภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียน
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ขยายการลงทุนในประเทศเวียดนามอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย ธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ และบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว เพื่อเพิ่มศักยภาพและความหลากหลายของบรรจุภัณฑ์ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภคในประเทศเวียดนามและภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนร่วมมือกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และขยายตลาดในเวียดนามและตลาดส่งออก
ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 SCGP ได้เข้าถือหุ้นร้อยละ 70 ใน Duy Tan Plastics Manufacturing Corporation (Duy Tan) ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูปในเวียดนาม ตามการเข้าทำสัญญาซื้อหุ้นตามที่ได้เปิดเผยสารสนเทศต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 โดยได้ชำระเงินสำหรับการเข้าถือหุ้นร้อยละ 70 โดยแบ่งการชำระค่าหุ้นออกเป็นงวดแรกจำนวน 3,630 พันล้านดอง (ประมาณ 5,170 ล้านบาท) และจะชำระค่าหุ้นงวดที่ 2 โดยพิจารณาจากผลประกอบการส่วนเพิ่มของ Duy Tan สำหรับงวดปีบัญชี 2563 และ 2564 ซึ่งเมื่อรวมกับเงินที่ชำระในงวดแรกแล้ว จะเป็นเงินไม่เกิน 6,400 พันล้านดอง (ประมาณ 9,120 ล้านบาท) ทั้งนี้ ธุรกรรมข้างต้นจะดำเนินการผ่าน SCGP Rigid Packaging Solutions Pte. Ltd. (“SCGPRS”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ SCGP ถือหุ้นทั้งหมดและ SCGP จะเริ่มรับรู้ผลประกอบการของ Duy Tan ในงบการเงินรวมเดือนสิงหาคม 2564
ปัจจุบัน Duy Tan เป็นผู้ผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูป (Rigid Packaging) ชั้นนำในประเทศเวียดนาม ด้วยฐานการผลิต 5 แห่ง โดยมีทั้งลูกค้ากลุ่ม B2B ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคแบรนด์ชั้นนำในประเทศเวียดนาม และลูกค้ากลุ่ม B2C ซึ่งเป็นสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ในบ้านภายใต้แบรนด์ Duy Tan เช่น อุปกรณ์และภาชนะบรรจุอาหาร ที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ผ่านช่องทางร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง และซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในประเทศเวียดนาม ในระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา (ไตรมาสที่ 3/2563 – ไตรมาสที่ 2/2564) มีรายได้ประมาณ 5,025 พันล้านดอง (ประมาณ 7,170 ล้านบาท) มีกำไรสุทธิหลังหักภาษีประมาณ 650 พันล้านดอง (ประมาณ 930 ล้านบาท) และมีสินทรัพย์ประมาณ 5,000 พันล้านดอง (ประมาณ 7,130 ล้านบาท)
“การลงทุนครั้งนี้จะช่วยให้ SCGP สามารถนำเสนอบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มฐานลูกค้าตามกลยุทธ์ที่วางไว้ อีกทั้งยังจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนจุดแข็งในการดำเนินงาน เทคโนโลยี และการใช้ทรัพยากรร่วมกัน รวมทั้งเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของ SCGP ที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศเวียดนาม” นายวิชาญ กล่าว
ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ทุกวัย ทุกคนในครอบครัว
การรับฟังเสียงจากลูกค้า (Voice of Customers) เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาสินค้าและบริการ ที่ SGP ยึดมั่นเป็นวิถีในการทำงาน เพื่อให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านโซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรอย่างแท้จริง
ความต้องการในการใช้บรรจุภัณฑ์มีความหลากหลาย แตกต่างไปตามช่วงอายุ อาชีพ ตลอดจนไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน ลองนึกดูง่าย ๆ ในครอบครัวเราประกอบไปด้วยพ่อ แม่ พี่ น้อง ซึ่งก็มีวิถีการใช้ชีวิตที่ต่างกันออกไป
ฉบับนี้เรามีโอกาสสัมภาษณ์ครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิกที่มีอาชีพและไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน ได้แก่ คุณหรัณ (รัณ) – คุณจารุวรรณ (โอ๋) กนกวลีวงศ์ สามี-ภรรยาเจ้าของธุรกิจออนไลน์ (นำเข้าและจำหน่ายเครื่องครัว Dream Chef และคุณแม่อัมพร อาสนวิทยา เจ้าของธุรกิจร้าน Come Home Cafe (คำโฮม คาเฟ่) มาดูกันว่าแต่ละคน เลือกใช้บรรจุภัณฑ์แบบใด และปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกซื้อเพื่อตอบโจทย์การใช้งานมีอะไรบ้าง
บรรจุภัณฑ์ ช่วยเสริมแบรนด์ให้แข็งแกร่ง
คุณโอ๋เริ่มเล่าถึงธุรกิจให้เราฟังคร่าว ๆ ว่า Dream Chef คือ เครื่องครัวนำเข้าจากประเทศเกาหลี วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าควบคู่ไปกับช่องทางออนไลน์
“ในปัจจุบัน ยอดขายทางออนไลน์ของเราเติบโตเป็นอย่างมาก เนื่องจากการ Work from Home ทำให้ผู้คนใช้เวลาอยู่บ้านกันมากขึ้น ทำอาหารรับประทานเองเพื่อความปลอดภัย ลูกค้าจึงนิยมสั่งสินค้าของเราไปใช้
“สินค้าถูกส่งไปตามช่องทางขนส่ง กล่องพัสดุที่ใช้จะต้องปกป้องเครื่องครัวทุกชิ้นไปถึงมือลูกค้าได้อย่างปลอดภัย อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ สินค้าด้านในไม่เกิดความเสียหาย เมื่อลูกค้าได้รับสินค้าและเกิดความประทับใจ มั่นใจในแบรนด์เรา มีการรีวิวบอกต่อ ทำให้แบรนด์ของเรามีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น
“โอ๋เลือกใช้กล่องพัสดุจากคู่ค้าของ SCGP ในการจัดส่ง มีการออกแบบมาอย่างดี มีน้ำหนักเบา แข็งแรง ทนทาน แพ็คง่าย รับน้ำหนักสินค้าได้ดีผิวกระดาษสะอาด สามารถพิมพ์ชื่อแบรนด์ โลโก้ หรือรายละเอียดต่าง ๆ ของร้านลงไปแล้วสวยงาม ดูดี ช่วยให้ลูกค้าของเราประทับใจเมื่อรับสินค้า
“ที่ผ่านมาเราก็ได้รับ Feedback ที่ดีจากลูกค้ามากมายในทุก ๆ แพลตฟอร์มว่า สินค้าถูกส่งถึงมือลูกค้าได้อย่างสมบูรณ์อย่างที่เราตั้งใจ ทำให้โอมั่นใจว่าบรรจุภัณฑ์มีความสำคัญต่อความพึงพอใจของลูกค้า โอ๋จึงตัดสินใจใช้บรรจุภัณฑ์ของที่นี่ต่อไปค่ะ
“ในอนาคต อยากให้กล่องเบาขึ้นอีกโดยที่ความแข็งแรงยังเท่าเดิม เพราะจุดนี้จะช่วยให้ธุรกิจแบบเราประหยัดค่าขนส่งได้มากขึ้นอีกค่ะ”
บรรจุภัณฑ์ ช่วยให้ชีวิตประจำวันง่ายขึ้น
นอกจากคุณรัณจะดูแลเรื่องการตลาดของแบรนด์แล้ว ในชีวิตประจำวันคุณรัณยังมีบทบาทของการเป็นพ่อบ้านแห่งชาติด้วย หน้าที่หลักของเขาคือ การเลือกซื้อของกินของใช้เข้าบ้าน ซึ่งการตัดสินใจซื้อสินค้าแต่ละชิ้นนั้นคุณรัณไม่ได้มองที่คุณภาพสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังสนใจเรื่องบรรจุภัณฑ์ของสินค้านั้น ๆ อีกด้วย
“ทุก ๆ ครั้งที่ซื้อของในห้างหรือซูเปอร์มาร์เก็ต นอกจากผมจะเลือกคุณภาพจากแบรนด์ของสินค้านั้น ๆ แล้ว ผมก็เลือกซื้อสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูด สวยงามสะดุดตา รวมไปถึงความสะดวก อย่างพวกเครื่องดื่มกระป๋องหรือขวด ถ้าเราสามารถหิ้วได้โดยไม่ต้องใส่ถุงเพื่อลดทรัพยากร ขนขึ้นรถหรือเข้าบ้านได้เลย หรือของกินของใช้ที่นำมาจัดเรียงได้สะดวก ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น
“ที่สำคัญผมเป็นคนชอบอะไรที่ใช้แล้วรู้สึกดี เช่น ขวดที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล คือเห็นปุ๊บแล้วอยากใช้เลย ใช้แล้วรู้สึกเป็นคนดี อยากเป็นคนที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือโลก ผมอยากเห็นอะไรแบบนี้ในบ้านเราเยอะ ๆ ครับ”
บรรจุภัณฑ์ ให้มากกว่าการปกป้อง
สำหรับ Come Home Cafe เป็นอีกหนึ่งธุรกิจในครอบครัวที่เปิดบริการมา 8 ปี มีทั้งในส่วนของร้านอาหาร งานจัดเลี้ยง (Catering) รวมถึงเดลิเวอรี (Delivery) มีครัวกลางที่ควบคุมกระบวนการทำอาหารอย่างมีมาตรฐาน และปลอดภัย ซึ่ง Come Home Cafe มีการใช้งานบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย และให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาดและปลอดภัยมาก
“อาหารร้านเราไม่ได้อร่อยอย่างเดียวนะคะ ต้องสด สะอาด ถูกหลักอนามัย กล่องใส่อาหารต้องสะอาดและปลอดภัย ที่ร้านเราเลือกใช้กล่องเฟสท์ สำหรับใส่อาหารเพื่อส่งเดลิเวอรีให้ลูกค้า เพราะเรามั่นใจในความสะอาดและปลอดภัย เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจด้วย เวลาส่งเดลิเวอรี ฝากล่องต้องปิดสนิท เรียงซ้อนกันได้ดี เราเห็นการปรับปรุงรูปแบบกล่องมาหลายเวอร์ชัน เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการ Feedback ซึ้งดีขึ้นเรื่อย ๆ ตอบโจทย์ในการใช้งานหลายแบบ
“และอีกปัญหาหนึ่งของการทำอาหารคือ การเก็บของสด ช่วงโควิดจะตุนอะไรก็กลัวเสีย แม่อยากจะได้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถเก็บของสดเอาไว้ได้นานขึ้น ลูก ๆ ลองเอาถุง Optibreath™ มาให้ใช้ มันช่วยได้เหมือนกันนะ แต่ต้องมีการจัดการและจัดเก็บที่ดีควบคู่ไปด้วย”
และนี่คือเสียงของลูกค้า ที่เป็นทั้งผู้ใช้งานเพื่อธุรกิจและผู้บริโภคปลายทางซึ่งไม่ว่าจะเป็นลูกค้าในรูปแบบไหน ความต้องการจะเป็นแบบใด SCGP พร้อมที่จะรับฟังและพัฒนาต่อ ให้ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของทุกคน
ความยั่งยืน 3 มิติ ที่จับต้องได้
เมื่อพูดถึงความยั่งยืน บ้างคิดว่าคือการดูแลสิ่งแวดล้อม บ้างนึกถึงสังคมที่เจริญก้าวหน้าการศึกษา หรือคุณภาพชีวิต ทำให้ประเด็นเรื่องความยั่งยืนกลายเป็นภาพที่แตกต่าง แต่แท้จริงแล้วคือการมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน
ESG เกราะป้องกันธุรกิจจากกระแสความเปลี่ยนแปลง
แนวคิดเรื่อง ESG เปรียบเสมือนเกราะป้องกันให้บริษัทสามารถยืนหยัดอยู่ได้ในโลกธุรกิจ ท่ามกลางความท้าทาย จุดแข็งของโล่กำบังนี้คือความชัดเจนและแนวคิดที่เป็นรูปธรรม ด้วยการกำหนดประเด็นสำคัญ 3 มิติสู่ความยั่งยืนได้แก่
มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) จะต้องมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และปกป้องสภาพแวดล้อมไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ
มิติด้านสังคม (Social) ต้องมีการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม การดูแลและใส่ใจต่อคู่ค้าและลูกค้า รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนใกล้เคียง
สุดท้ายคือมิติด้านธรรมาภิบาล (Governance) ซึ่งเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนภายในองค์กรให้มีความโปร่งใส บริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม และไม่หยุดต่อยอดนวัตกรรม
หากบริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามกรอบของ ESG บริษัทจะสามารถสร้างผลกำไรได้ในระยะยาวและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ESG กับการลงทุนอย่างยั่งยืน
แนวคิดเรื่อง ESG ยังเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกลยุทธ์การลงทุนที่เรียกกันว่า “การลงทุนอย่างยั่งยืน” โดยนักลงทุนจะพิจารณาแนวทางการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับข้อมูลทางการเงิน เรียกว่ายั่งยืนแล้วยังต้องยืนหนึ่งเรื่องสร้างผลกำไรเช่นกัน S&P Dow Jones ผู้จัดทำดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) หรือดัชนีประเมินความยั่งยืนระดับโลก กล่าวว่า การลงทุนเพื่อความยั่งยืนต้องให้ความสำคัญ ทั้งการสร้างความมั่งคั่งให้นักลงทุนควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงในระยะยาวด้วย เช่น หากบริษัทปล่อยของเสียสู่อากาศ ไม่ดูแลชุมชนรอบบริษัท หรือมีการติดสินบนคอร์รัปชันจนถูกฟ้องร้อง ย่อมเกิดผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน ความอยู่รอด และความสามารถในการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจ
สำหรับ SCGP การปฏิบัติตามกรอบของ ESG ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานที่ทำให้บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง และได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุน โดย SCGP ได้มีการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน พร้อมกำหนด “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals) เป็นกลยุทธ์ในการดำเนินกิจการ 3 ด้าน คือด้านสิ่งแวดล้อม เน้นการลดใช้ทรัพยากรและพลังงาน รักษาสมดุลของระบบนิเวศในระยะยาว ด้านสังคม เน้นดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นธรรม ถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม ดูแลสวัสดิภาพของพนักงาน และมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้คนในทุกแห่งที่เข้าไปดำเนินธุรกิจด้านเศรษฐกิจ เน้นสร้างคุณค่า ไม่ใช่แค่ผลกำไร แต่ต้องสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม เพิ่มขีดความสามารถขององค์กรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนดำเนินธุรกิจบนแนวทางบรรษัทภิบาลเพื่อความยั่งยืน ทั้งหมดนี้คือแนวทางการดำเนินงานของ SCGP ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
ท่ามกลางความผันผวนจากสถานการณ์และความท้าทายต่าง ๆ ที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวต่อไป ESG เป็นแกนหลัก ในการดำเนินงานที่จะเป็นหนทางสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง ด้วยแนวปฏิบัติที่ชัดเจน จึงพร้อมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม พิสูจน์ได้จากผลประกอบการของบริษัทและความสามารถในการหยิบยื่นสิ่งดี ๆ สู่สังคม
– องค์ประกอบของ ESG –
มิติสิ่งแวดล้อม
1. การบริหารจัดการพลังงาน
2. การบริหารจัดการน้ำ
3. การบริหารจัดการของเสียและมลพิษ
4. การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
มิติสังคม
5. การปฏิบัติต่อแรงงาน / พนักงาน
6. ความรับผิดชอบต่อลูกค้า
7. การพัฒนาสังคมชุมชน
มิติบรรษัทภิบาล
8. การกำกับดูแลกิจการที่ดี
9. การบริหารความเสี่ยง
10. การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน
11. นวัตกรรมองค์กร
SCGP มอบ “กระดาษไอเดียและกระดาษสุพรีม” สนับสนุนหน่วยบริการฉีดวัคซีนโควิด 19
คุณวิชาญ เจริญกิจสุพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กิจการเยื่อและกระดาษ SCGP นำทีมผู้บริหารและตัวแทนจำหน่ายกระดาษถ่ายเอกสาร บริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด ใน SCGP ร่วมมอบกระดาษถ่ายเอกสารแบรนด์ไอเดีย และแบรนด์สุพรีม จำนวนรวมกว่า 9,000 รีม ให้หน่วยบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ทั่วประเทศไทย มากกว่า 25 แห่ง เพื่อนำไปใช้เก็บข้อมูลของผู้เข้ารับบริการ และอำนวยความสะดวกในขั้นตอนต่าง ๆ ภายในหน่วยบริการ โดยได้ทำการส่งมอบแล้วให้แก่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ หน่วยบริการฉีดวัคซีน สถานีกลางบางซื่อ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงเทพ โรงพยาบาลบ้านโป่ง ศูนย์ฉีดวัคซีนขอนแก่น โรงพยาบาลระยอง โรงพยาบาลนครพิงค์
SCGP ยังคงเดินหน้าในการสนับสนุน ช่วยเหลือ และส่งกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และคนไทยทุกคนให้ร่วมกันก้าวผ่านความท้าทายในวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในครั้งนี้ไปด้วยกัน
Mini SK8 Shelf ชั้นวางบอร์ดกระดาษ พกพาง่าย ดีไซน์สุดคูล
Mini SK8 Shelf ชั้นวางบอร์ดดีไซน์สุดคูล สร้างสรรค์จากนวัตกรรมที่ทำให้กระดาษแข็งแรงเทียบเท่าวัสดุไม้ แต่นํ้าหนักเบากว่า สร้างลูกเล่นสุดครีเอทีฟได้หลากหลาย ออกแบบภายใต้แบรนด์ KUFF แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ และสินค้าไลฟ์สไตล์ที่ทำจากกระดาษจาก SCGP ออกแบบมาเพื่อสายเซิร์ฟสเก็ตโดยเฉพาะ สามารถวางบอร์ดได้อย่างทนทานแข็งแรง รับน้ำหนักได้มากถึง 110 กิโลกรัม ดีไซน์โดดเด่นสวยงาม ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นลวดลายที่สวยงามแตกต่าง เหมาะกับการจัดเก็บบอร์ดที่บ้าน ทำให้มุมวางบอร์ดของคุณไม่น่าเบื่อ หรือจะพกพาไปเซิร์ฟกับเพื่อนสายสตรีทของคุณได้ทุกที่ เพราะทำจากกระดาษเคลือบกันน้ำ ทำให้น้ำหนักเบา พกพาสะดวก สามารถถอดประกอบได้ง่าย
- สามารถวางบอร์ดได้ทุกประเภท ทั้งสเก็ตบอร์ด (Skateboard) เสิร์ฟสเก็ต (Surfskate) และลองบอร์ด (Longboard)
- แข็งแรงทนทาน สามารถรองรับน้ำหนักได้มากถึง 110 กิโลกรัม
- ผลิตจากกระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- น้ำหนักเบา (น้ำหนักโดยรวม 1.2 กิโลกรัม)
- ประกอบและติดตั้งได้ง่าย สามารถถอดชิ้นส่วนเก็บใส่กล่องได้เมื่อไม่มีการใช้งาน จึงช่วยประหยัดพื้นที่
- ผ่านการเคลือบด้วยสติกเกอร์ด้านกันน้ำ เพิ่มความทนทานในการใช้งาน เช่น ในกรณีน้ำหก สามารถเช็ดออกได้โดยไม่ทำให้ผิวเก้าอี้เสียหาย
- พิมพ์ด้วยระบบ Digital Print มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน ตามมาตรฐานสากล (REACH, RoHS3, Green Guard Gold, EN71 Toy Directive)
- อายุการใช้งานประมาณ 1 ปี ในสภาวะปกติ ที่ไม่สัมผัสความชื้นหรือเปียกน้ำ
- สินค้า Made to order ใช้เวลาผลิตและจัดส่ง 5-14 วัน
สนใจสั่งซื้อ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Doozy Pack (Facebook: Doozy Pack, Line: @doozypack)