คอนิเมก คว้ารางวัล Asia Pacific Supplier Award 2022 ด้าน Environmental Sustainability จาก Shell ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการเป็นพันธมิตรอย่างยั่งยืน
บริษัทคอนิเมก จำกัด นำโดยคุณกรัณย์ เตชะเสน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กิจการบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ SCGP เป็นตัวแทนรับมอบรางวัล Asia Pacific Supplier Award 2022 ด้าน Environmental Sustainability จาก Shell Lubricant Asia Pacific โดยคุณสุกัญญา ธีระวิบูลย์ Country Planning Manager – Thailand บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด และทีม เป็นตัวแทนมอบ
บริษัทคอนิเมก จำกัด เป็น 1 ใน 14 บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นบริษัทที่มีความสามารถและโดดเด่นในด้าน Environmental Sustainability จากรายชื่อผู้เข้าร่วมคัดเลือกถึง 400 บริษัทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเชลล์เป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำมันชั้นนำระดับแนวหน้าของโลก ที่มีนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับรางวัลในด้าน Environmental Sustainability นี้ เป็นผลมาจากโครงการต่าง ๆ ที่ทำร่วมกัน รวมถึงการนำเสนอบรรจุภัณฑ์แกลลอนน้ำมันเครื่องฯ ที่มีส่วนผสมของ PCR 25% โดยโครงการทั้งหมด ช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ถึง 439 ตัน คิดเป็น 17% จากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดที่เชลล์ลดได้ในภูมิภาคอาเซียนในปี 2021
รางวัลนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและยอมรับจากคู่ค้าระดับสากล เป็นเครื่องหมายในการยืนยันความเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีของทั้งสองบริษัท ที่มีมายาวนานกว่า 40 ปี
SCGP ได้รับการรับรอง CIRCULAR MARK เป็น 1 ใน 30 บริษัท กลุ่มแรกของประเทศไทย
CIRCULAR MARK พัฒนาขึ้นเพื่อการรับรองความเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของผู้ประกอบการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ สร้างมูลค่าให้แบรนด์สินค้า และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน รับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่มีการออกแบบที่คำนึงถึงหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีคำแนะนำการใช้งาน รวมถึงการจัดเก็บวัสดุเหลือใช้หลังหมดอายุการใช้งานและส่งกลับเข้าสู่กระบวนการที่เหมาะสม พิจารณาถึงการใช้ทรัพยากร การสร้างขยะ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ดำเนินการพัฒนาภายใต้โครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาระบบฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์หมุนเวียนอันเป็นการส่งเสริมการหมุนเวียนวัสดุเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย” โดยมี รศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการวีกรีน คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการฯ ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พร้อมกับหน่วยงานภาคี ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน หรือ กลุ่ม PPP Plastics ร่วมสนับสนุนทุนวิจัย ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรอาหาร วัสดุก่อสร้าง พลาสติก บรรจุภัณฑ์ และแฟชั่นไลฟ์สไตล์
5 ผลิตภัณฑ์นำร่องจาก SCGP ที่ผ่านการรับรอง CIRCULAR MARK ได้แก่
1. กระดาษถ่ายเอกสารไอเดียกรีน
2. ถุงกระดาษสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค
3. บรรจุภัณฑ์เฟสท์ ไบโอ
4. ถุงพลาสติกชนิดอ่อนตัวแบบ Laminated Mono-material (R1)
5. ขวดแชมพูสำหรับกลุ่มสัตว์เลี้ยงที่ผลิตจากพลาสติกใช้แล้ว PCR 100% ประเภท HDPE
บาส – ปอป้อ “THE POWER OF TEAMWORK”
ก้าวขึ้นเป็นนักแบดมินตันคู่ผสมมือหนึ่งของโลกเมื่อปลายปี 2021 ที่ผ่านมา สำหรับบาส – เดชาพล พัววรานุเคราะห์ และปอป้อ – ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย รวมถึงกวาดแชมปัมา 13 รายการ โดยเฉพาะการคว้าแชมป์ติดต่อกัน 6 รายการ ซึ่งรายการล่าสุดคือ คว้าเชมป์คู่ผสม แบดมินตันเวิลด์ทัวร์ซูเปอร์300 “YONEX GAINWARD GERMAN OPEN 2022”
ถือเป็นอีกขั้นของความสำเร็จในเส้นทางลูกขนไก่ ที่ต้องฝ่าด่านการฝึกซ้อมอย่างหนัก วินัยที่เคร่งครัด ทีมเวิร์กที่ดี เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน
จากเด็กที่สนุกกับการเล่นแบดมินตัน ลงสนามแข่งตั้งแต่อายุไม่ถึง 10 ขวบ เก็บตัวกับเอสซีจีเมื่ออายุ 14 ปี และติดเยาวชนทีมชาติตอนอายุ 18 ปี มาจับคู่กันในปี 2015 คว้า 11 แชมป์ใน 7 ปี จนเดินทางมาถึงวันนี้ ทั้งคู่แท็กทีมผ่านการแข่งขันมาหลายระดับ ผ่านบทเรียนทั้งแพ้และชนะมานับไม่ถ้วน
วินัยคือหัวใจของนักกีฬา
บาส: “กีฬาแบดมินตันต้องมีระเบียบวินัยครับ ทั้งเรื่องการกิน การพักผ่อน การซ้อม เพราะตอนแข่งขัน เราจะเอาสิ่งที่ซ้อมมาใช้ให้ดีที่สุด วินัยเลยเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรามาตรงจุดนี้”
ปอป้อ: “โปรแกรมซ้อม จะมีทีมงานออกแบบวางแผนให้ ช่วงไหนหนัก ช่วงไหนเบา ไปแข่งแล้วจะรักษาร่างกายยังไงให้ฟิตได้ตลอดเวลา แต่เราก็ต้องหาวิธีผ่อนคลาย มีจังหวะพักให้เล่นกีฬาชนิดอื่น หรือวอร์มแบบอื่นบ้าง ส่วนหนึ่งเราต้องรับผิดชอบตัวเอง เพราะถ้าขาดตรงนี้ไป อาจจะทำให้เกมรวนได้”
คุยให้เคลียร์ วิธีคิดเพื่อทีมเวิร์ก
ปอป้อ: “ความกดดันเรื่องปกติ แต่เราจะโฟกัสว่าจะเล่นกันยังไงมากกว่า สื่อสารกันแบบไหน เพื่อให้เกมออกมาดีที่สุด ที่สำคัญคือ ต้องรู้ว่าพาร์ตเนอร์เราชอบหรือไม่ชอบอะไร ถนัดแบบไหน เพราะในการเล่นคู่กันต้องคิดเหมือนกันสอดคล้องกันในเกม ต้องมาคุยกันว่าเกมของเราคืออะไร จะได้เข้าใจตรงกัน”
บาส: “เราคุยกันตลอดทั้งเกมครับ ตั้งแต่ก่อนแข่ง ระหว่างเกม หรือหลังแข่ง ต้องรู้ใจกัน ถ้าใครบางคนตีลูกออกไปแล้วมันเหิน มันโด่งแล้วโดนอีกฝ่ายบุกกลับมา ก็ต้องช่วยกัน รับก่อน เพื่อที่ให้เกมกลับมาดีขึ้น ไม่ใช่เราเป็นฝ่ายรับอยู่แล้ว จะบุกกลับไปอย่างเดียวต้องช่วยกันให้กลับมาอยู่ในรูปเกมที่ดี”
ปอป้อ: “เมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้น ก็ไม่โกรธหรือโทษกัน พยายามใช้สมาธิ สติ ไม่เอาอารมณ์มาอยู่เหนือทุกอย่าง เพราะถ้าเรายิ่งใช้อารมณ์ก็จะยิ่งแย่”
กางจุดอ่อน พร้อมสร้างจุดแข็งใหม่
ปอป้อ: “การแพ้ชนะเป็นเรื่องปกติค่ะ เมื่อแพ้เราต้องหาสาเหตุว่าเพราะอะไร เช่น ไม่มีสมาธิ ไม่นิ่งพอ บางครั้งอาจจะแกว่งไปมาตามอารมณ์ ในเกม ก็ต้องใช้เหตุและผลคุย แล้วก็ปรับกัน เวลาชนะเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว ก็พัฒนาสิ่งที่ดีอยู่ ให้มันดีขึ้นไปอีก อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนถึงวันนี้จะเป็นที่หนึ่ง แต่เราก็ต้องพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ”
บาส: “ในเกมมีเรื่องที่หลุดบ้างครับ เราไม่ได้ดีตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์ ยังมีบางแมตซ์ที่มีเสียบ้าง อาจมีลูกที่อีกฝ่ายตีมาแล้วเราไม่ชอบ เราก็จำลูกนั้นไว้แล้วมาฝึกซ้อม มีจุดที่เราทำดีอยู่แล้วแต่เราก็ต้องทำให้ดีขึ้นไปอีก ต้องเพิ่มศักยภาพของตัวเรา”
มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
ปอป้อ: “เราสองคนยังมีเป้าหมายเดียวกัน วันนี้เราได้แชมบ์โลกก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถือว่าเป็นจุดสูงสุดของเรา ตลอดมาเราตั้งเป้าหมายกันไว้อยู่แล้วว่าเราอยากได้ครบทั้ง 5 รายการ เรายังต้องพัฒนาตัวเราเพื่อแมตช์ต่อ ๆ ไป”
บาส: “เรื่องท้อไม่มีครับ จะมีเรื่องความเหนื่อย ในเกมกับตอนซ้อม ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เรารู้ว่าเหนื่อยเพื่ออะไร เรามีเป้าหมายที่พร้อมจะทุ่มเท ขณะที่เราได้แชมป์ก็ดีใจครับ พอผ่านไป ถือว่ามันเป็นอดีตไปแล้ว เราต้องโฟกัสในแมตซ์หน้าที่กำลังจะมาถึง ไม่ยึดอยู่กับอดีตที่เราประสบความสำเร็จ ไม่ถึงขั้นกดดัน แต่เราต้องอยู่กับปัจจุบันครับ”
เสน่ห์ของแบดมินตัน
บาส: “แบดมินตันเป็นกีฬาที่ไม่ว่า คนรูปร่างแบบไหนก็เล่นได้ เป็นกีฬาที่ท้าทาย เพราะต้องคิดตลอดเวลาว่าจะตอบโต้ยังไง”
ปอป้อ: “แบดมินตันเป็นกีฬาที่มีเสน่ห์ ต้องใช้ไหวพริบแก้เกมกันไปมาตลอดเวลา ทั้งเร็ว ทั้งแรง และทำให้รู้สึกสนุกไปพร้อมกัน”
ส่งกำลังใจให้ทุกคนที่มุ่งมั่น
บาส: “แต่ละคนเก่งไม่เหมือนกัน ต้องหาสิ่งที่ชอบหรือสิ่งที่ตัวเองเก่งในด้านนั้น ถ้าทำได้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นนักกีฬาแล้วต้องเป็นแชมป์อยู่ที่เราพอใจตรงไหน”
ปอป้อ: “อยากให้ทุกคนที่มุ่งมั่นในเส้นทางของตัวเอง ลงมือทำและตั้งใจทำจริง ๆ อาจจะมีอุปสรรคบ้าง อย่ายอมแพ้ เชื่อว่าทุกคนต้องประสบความสำเร็จ”
แนวคิดสำคัญสู่จุดหมาย
บาส: พยายามคิดบวก ไม่คิดลบ
ปอป้อ: ทำวันนี้ให้ดีที่สุดและไม่หยุดพัฒนาตัวเอง
ทั้งฮั่วซินกรุ๊ป พัฒนาอย่างต่อเนื่อง สู่การเป็นผู้ผลิตในใจลูกค้า
“เวลา” เป็นเครื่องพิสูจน์สิ่งต่าง ๆ ได้ดีเสมอ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและเติบโตทางธุรกิจมาหลายช่วงเวลาความเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจที่ดีระหว่างบริษัททั้งฮั่วซิน จำกัด กับ SCGP ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องยาวนานถึงสามทศวรรษ โอกาสนี้ เราได้รับเกียรติจากคุณพีระพงษ์ ทังเกษมวัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัททั้งฮั่วซิน พริ้นติ้ง เน็ทเวอร์ค จำกัด และบริษัททีพีเอ็น แพคเกจจิ้ง จำกัด ภายใต้ทั้งฮั่วซิน กรุ๊ปสละเวลามาร่วมแชร์แนวคิดและประสบการณ์ในการทำธุรกิจ ที่ทำให้ทั้งฮั่วซินกลายเป็นบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ครบวงจรรายใหญ่อย่างทุกวันนี้
จุดเริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัว
ก่อนที่ธุรกิจจะเติบโต๋จนกลายเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ที่พร้อมรองรับความต้องการทุกรูปแบบได้นั้น คุณพีระพงษ์เล่าว่า ทั้งฮั่วซินมีจุดเริ่มต้นคล้ายกับหลายธุรกิจคือ การหมั่นมองหาโอกาสทางธุรกิจแล้วลงมือทำ
“ย้อนไปราว ๆ ปี 2496 เป็นช่วงที่ธุรกิจโรงพิมพ์กำลังบูม ตลาดมีความต้องการงานพิมพ์สูงมาก ถึงขนาดที่ส่งงานลูกค้าไม่ทัน ทำให้คุณพ่อเห็นโอกาสทางธุรกิจ และเกิดความคิดที่จะเปิดโรงพิมพ์เป็นของตัวเอง ทั้งฮั่วซินจึงเริ่มเปิดโรงพิมพ์แห่งแรก โดยตั้งอยู่ที่วงเวียน22 กรกฎาคม ย่านเยาวราช รับงานพิมพ์ประเภทฉลากสินค้า ใบแทรกสมุดจด ใบเสร็จ ใบสั่งซื้อ นามบัตร ปฏิทินแบบฉีก รวมถึงการ์ดสำหรับงานพิธีต่าง ๆ และงานพิมพ์เอกสารทั่วไป วิธีการพิมพ์ยังเป็นแบบดั้งเดิมอยู่เลย”
นับจากนั้นมา ก็ค่อย ๆ เติบโตควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมไทย ที่มีการขยายตัวตามแรงผลักดันของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อุตสาหกรรมอาหารกระป๋องกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งฮั่วซินถือเป็นโรงพิมพ์บรรจุภัณฑ์รายแรก ๆ ที่เข้าไปตอบโจทย์ กระทั่งเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคของ Flexible Packaging ก็ได้ขยายบริการไปสู่โอกาสต่าง ๆ พร้อมทั้งปรับปรุงและขยายธุรกิจในเครือออกไปอีกหลายส่วน จนกลายมาเป็นโรงพิมพ์บรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรที่เป็นหนึ่งทางเลือกในใจของลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารในปัจจุบัน
“เทคโนโลยีสีเขียว” ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งฮั่วซินพัฒนาคุณภาพของสินค้าอย่างต่อเนื่อง และใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยในกระบวนการผลิต ทั้งยังผ่านการทดสอบมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมจากหลายสถาบัน ขณะเดียวกันยังมุ่งเน้นและใส่ใจในการสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น ด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมีเป้าหมายในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้บริโภค
“เป้าหมายของเราคือ การเป็นผู้ผลิตที่ไม่สร้างมลภาวะให้โลกมากเกินไป เราจึงส่งเสริมเรื่องเทคโนโลยีสีเขียวอย่างจริงจัง หรือแม้แต่การเป็นธุรกิจที่ไม่สร้างขยะแก่โลก เรื่องนี้คือจุดแข็งในการเข้าถึงลูกค้า ลูกค้ารายใหญ่ระดับองค์กรตระหนักเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างมาก ลูกค้าของเราเกือบทั้งหมดเป็นลูกค้าในประเทศ สัดส่วนยอดขายเป็นสินค้าประเภท Soft Packaging หรือ Flexible Packaging ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการค่อนข้างสูง
“ปัจจุบันการแข่งขันในตลาดทวีความรุนแรงขึ้น เราจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด เช่น การจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง เพื่อหาโอกาสส่งเสริมธุรกิจให้ทันสมัย ตอบโจทย์ได้ตรงตามข้อกำหนดหรือความต้องการของลูกค้า และเรื่องของพาร์ตเนอร์ เรามี SCGP เป็นพันธมิตรทางธุรกิจด้านวัตถุดิบ มีซัพพลายเออร์ด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งพัฒนาความร่วมมือถึงระดับที่ส่งเสริมเกื้อกูลกัน หลักการคือ มีการแซร์เทคโนโลยีและกลยุทธ์ร่วมกันอยู่เสมอ ทำให้เราติดตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ทันเวลาช่วยกันสนับสนุนและแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ การมีพันธมิตรทางธุรกิจ ทำให้องค์กรเรามีความแข็งแกร่งมากขึ้น หูตากว้างขึ้น รู้เท่าทันสถานการณ์ได้รวดเร็วขึ้น
“วันนี้เรามีจุดแข็งในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ระดับหนึ่งแล้ว อนาคตเรามองหาโอกาสหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงการหาพาร์ตเนอร์มาเสริมจุดแข็งของเราอย่างต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจอื่น เราก็ยังมองหาโอกาสอยู่ตลอดว่า อะไรบ้างที่จะมาเสริมทัพให้ธุรกิจและทำให้ผลิตภัณฑ์เรามีความหลากหลายและเติบโตยิ่งขึ้น”
พาร์ตเนอร์ที่ดูแลกันอย่างเข้าใจ
ความร่วมมือระหว่างทั้งฮั่วซินกับ SCGP นั้นก่อตัวขึ้นมานานหลายทศวรรษ ผ่านการสื่อสารอย่างต่อเนื่องและการส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพและไม่หยุดพัฒนา โดยสิ่งสำคัญที่ทำให้การเป็นพาร์ตเนอร์ราบรื่นและต่อเนื่องยาวนานคือ การดูแลกันอย่างเข้าใจ
“SCGP ช่วยดูแลเรื่องวัตถุดิบกระดาษ Duplex เป็นหลัก ต่างฝ่ายต่างช่วยกันต่อยอดธุรกิจ ร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องต่าง ๆ ทำให้การทำงานรวดเร็ว รวมถึงการลดต้นทุน จนถึงปัจจุบันก็น่าจะราว 30 ปีแล้วที่ SCGP ดูแลเรา ที่ผ่านมาแม้จะมีวิกฤติ แต่เราก็ได้รับการซัพพอร์ตที่ดีมาตลอด ล่าสุดคือสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งเกิดปัญหาในซัพพลายเชนทั้งหมด แต่กับ SCGP พบปัญหาน้อยมาก เพราะมีการสื่อสารกันตลอด หรือพอเขารู้สถานการณ์ของเรา เขาก็ช่วยจัดการอย่างเต็มที่ เปลี่ยนความยากลำบากที่เจอให้ง่ายขึ้น อีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าไม่ได้เจอง่าย ๆ คือ SCGP เป็นองค์กรที่มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง คนที่ดูแลเราเมื่อ 30 ปีที่แล้วกับคนที่ดูแลอยู่ ณ ตอนนี้ก็ยังรู้จักกันอยู่ ทั้ง ๆ ที่คนที่ดูแลผมเมื่อ 30 ปีที่แล้วไม่ได้อยู่วงการนี้แล้ว แสดงถึงความต่อเนื่องในการบริหาร รู้จักลูกค้าอย่างลึกซึ้ง แม้แต่คนรุ่นใหม่ก็ยังรู้จักลูกค้ารุ่นเก่าเป็นอย่างดี นับเป็นจุดแข็งของเขาเลยครับ
“การทำธุรกิจระหว่างกัน ผมคิดว่า SCGP ดูแลเราอย่างดีที่สุด ส่วนเรื่องอื่น ๆ เช่น ปัญหาทางเทคนิคหรือคุณภาพกระดาษนั้นเป็นเรื่องปกติ ถึงแม้จะสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ก็ต้องช่วยกันพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ ครับ”
เปิดใจวิศวกรหนุ่ม ผู้คว้าโอกาส เปิดประสบการณ์ทำงานในต่างแดน
ในเส้นทางการทำงาน เรามีตัวเลือกเพื่อหาโอกาสในการพัฒนาตนเองหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการได้ลองไปทำงานในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นหรือระยะยาว เช่นเดียวกับ สาม – รนินท์โชติ พลพัฒนะวัชร์ ที่วันนี้มีโอกาสมาแซร์เรื่องราวการเรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิต แนวทางการทำงานในต่างประเทศที่เขาได้ไปสัมผัสและประทับใจ จนอยากชวนให้ทุก ๆ คนก้าวออกจาก comfort zone และเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง
พัฒนาตัวเอง เรียนรู้และปรับตัว สู่ “MOBILITY”
“เดิมผมเป็นวิศวกร สังกัดฝ่ายพลังงาน ได้ทำโครงการเกี่ยวกับการขยายธุรกิจมาพอสมควร เราก็มองว่าในอนาคตถ้ามีโอกาสได้ไปทำงานที่ต่างประเทศ น่าจะเป็นความท้าทายใหม่ ๆ จนทราบข่าวว่า บริษัทกำลังมีโครงการขยายกำลังการผลิตที่ประเทศฟิลิปปินส์ ผมจึงอาสาสมัครไปทำงานที่นั่น
“โครงการที่ไปทำคือ การติดตั้งเครื่องจักรเพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ ผมมีหน้าที่ดูแลงานไฟฟ้าและไอน้ำของโรงงาน การตัดสินใจไปครั้งนี้มาจากความอยากเรียนรู้ครับ ผมชอบสื่อสาร ชอบทำงานกับคนต่างชาติเพื่อหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่แล้ว และคิดว่าการไปอยู่ต่างประเทศน่าจะเป็นการพัฒนาตัวเองไปอีกขั้นมีอะไรที่ท้าทายมากขึ้นกว่าเดิม ด้วย mindset แบบนี้ การใช้ชีวิตในต่างประเทศได้เจอวัฒนธรรมใหม่ ผมจะพยายามเรียนรู้และปรับตัวให้กลมกลืน ขณะเดียวกันก็มีรุ่นพี่ที่อยู่มาก่อนคอยให้คำแนะนำด้วยอีกทาง
“ที่ฟิลิปชินส์ใช้ 2 ภาษา คือภาษาตากาล็อก กับภาษาราชการคือภาษาอังกฤษ เราก็พอมีพื้นฐานภาษาอังกฤษอยู่บ้าง และเป็นโอกาสดีที่ได้ฝึกการฟังและการพูดเพิ่มขึ้นด้วยเพราะต้องใช้ทุกวัน เรื่องศัพท์เทคนิคไม่ค่อยมีปัญหาเนื่องจากใช้ในการทำงานอยู่แล้ว ส่วนภาษาตากาล็อกค่อนข้างยากเหมือนกันครับ แต่คนที่นั่นเขาจะรู้สึกดี ถ้าเราพยายามพูดตากาล็อกกับเขา แม้จะเป็นแค่คำพื้นฐาน”ในวันหยุด เพื่อนฟิลิปปินส์มักจะชวนพวกเราไปร่วมกิจกรรม ไปเรียนรู้วัฒนธรรมกับเขา คนที่นั่นค่อนข้างเป็นมิตรครับ การใช้ชีวิตก็คล้าย ๆ กับคนไทย ให้ความสำคัญกับครอบครัว ช่วงวันหยุดเราจะเห็นทุกคนไปทำกิจกรรมกับครอบครัว เวลาทำงานเขาก็มองทุกคนเป็นครอบครัวเดียวกัน ก็เลยสนิทกันง่าย”
COLLABORATE ทุกความหลากหลาย ก้าวข้ามทุกอุปสรรค
“สิ่งที่ผมประทับใจคือ ทุกคนทำงานด้วยเป้าหมายเดียวกันและพยายามหาแนวทางการทำงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในแต่ละขั้น การมีเป้าหมายย่อย ๆ ในแต่ละกระบวนการ ทำให้เราได้เรียนรู้ร่วมกัน เป็น leaning experience โดยเฉพาะตอนที่เจอกับสถานการณ์โควิด 19 ระลอกแรก ทุกคนมีความกังวลถึงสุขภาพและความปลอดภัยของทีมที่ต้องเข้าไปติดตั้งเครื่องจักร เราก็ต้องมาร่วมกันวางแผน แก้ไข และช่วยกันสนับสนุนจากทุกฝ่าย จึงทำให้ผ่านไปได้ เป็นการร่วมมือหรือ collaborate จากทุกคน ทุกเชื้อชาติ ที่ผมรู้สึกประทับใจมาก
“แนวคิดการทำงานของผม นอกจากขอบเขตงานที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่ผมจะมองไปถึงงานของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย บางครั้งอาจต้องทำงานเกินกว่าหน้าที่รับผิดชอบบ้าง เกินขอบเขตของตัวเองบ้าง เพื่อให้งานในภาพรวมราบรื่นมากขึ้น
“ปัจจุบัน SCGP ขยายธุรกิจไปในหลากหลายประเทศ ทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย อังกฤษ สเปน ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีของพนักงาน ที่จะได้มีโอกาสไปทำงานต่างประเทศมากขึ้น ได้เปิดโลกทัศน์เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ ๆ ก็อยากเชิญชวนเพื่อนพนักงานให้ลองคว้าโอกาสนี้ไว้ เพื่อพัฒนาตนเองและเรียนรู้จากความท้าทายใหม่ ๆ ที่เข้ามาในมุมขององค์กร เมื่อคนของเราเก่งขึ้น องค์กรเราก็จะมีความเข้มแข็งมากขึ้น และสามารถปรับตัวได้ในสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันได้ครับ”
กรัณย์ เตชะเสน – หมั่นเรียนรู้ หาโอกาส สร้างคำตอบ
เป้าหมายสำคัญของ SCGP คือ การพัฒนาสินค้า บริการ และโซลูชัน เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ในครั้งนี้เราได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับพี่กรัณย์ เตชะเสน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กิจการบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ – SCGP
หนึ่งในผู้บริหารที่เรียกได้ว่าเติบโตมากับครอบครัว SCGP พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงขององค์กรมาทุกยุคทุกสมัย
เส้นทางการทำงาน บนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
เริ่มต้นเส้นทางการทำงานกับ SCGP ที่โรงงานบ้านโป่ง ตั้งแต่ปี 2531ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์สำคัญที่พี่กรัณย์จำได้ดีคือ เป็นช่วงที่ธุรกิจเยื่อและกระดาษเริ่มบุกเบิกตลาดกระดาษพิมพ์เขียน จากเดิมที่อยู่ในตลาดกระดาษบรรจุภัณฑ์
“ช่วงแรกดูแลงานวิศวกรรมครับ ต่อมาได้ดูแลการผลิตกระดาษอาร์ตคุณภาพสูงที่ใช้กับนิตยสารชั้นนำหรือจากต่างประเทศ ทำเต็มตัวอยู่ราว ๆ 8 ปี ระหว่างนั้นได้ทุนของสภาอุตสาหกรรมฯ ไปศึกษางานผลิตกระดาษในประเทศสกอตแลนด์อยู่เกือบปี จากนั้นได้ทุนของ SCG ไปเรียนต่อด้าน MBA ที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบเมื่อปี 2542 จึงกลับมาทำงานในสายงานด้านการตลาด
“ช่วงนั้นธุรกิจเน้นตลาดกระดาษบรรจุภัณฑ์ เพราะเพิ่งขยายกำลังผลิต พี่ได้เข้าไปดูในส่วนวางแผนการตลาด สนับสนุน แก้ปัญหาให้ส่งออกได้มาก ๆ ซึ่งมีส่วนร่วมบุกเบิกธุรกิจนี้ของเรา ทั้งที่ฟิลิปปินส์และเวียดนาม นอกจากนี้ก็ดูแลการสร้างแบรนด์สินค้าของบริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด จนได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ดูแลในธุรกิจนี้ต่อเนื่องประมาณ 10 ปี ก่อนจะย้ายไปดูแลงานที่บริษัทกลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด โรงงานนวนคร ซึ่งเป็นโรงงานหลัก ฝั่งกรุงเทพฯ ตอนเหนือ ย้ายไปยังไม่ถึงปีก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 โรงงานเราได้รับผลกระทบพอสมควร ถือเป็นความท้าทายที่ต้อง บริหารงานและฟื้นฟูธุรกิจในช่วงเวลานั้น พอสถานการณ์เริ่มเข้าที่ก็ย้ายมาดูทางด้าน business integration และการขยายธุรกิจไปยังธุรกิจที่นอกเหนือจากกระดาษ
“ประมาณปี 2558 เรารีแบรนด์จาก SCG Paper เป็น SCG Packaging เดินหน้าขยายไปยังธุรกิจ Flexible Packaging โดยเข้าไปร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทต่าง ๆ ทั้งที่ไทยและเวียดนาม พอเข้าไปแล้ว เราก็ต้องพยายามสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ ทั้งเรื่องเงินทุน หรือบุคลากร ต่อมาเราก็ต่อยอดเป็นโซลูชันบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น บรรจุภัณฑ์คงรูป หรือบรรจุภัณฑ์สมรรถนะสูง ทดแทนกระป๋อง เป็นต้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น ตามวิสัยทัศน์ของเราที่มุ่งมั่นในการเป็น Packaging Solutions Provider จนมาถึงกระทั่งปัจจุบันที่เราขยายธุรกิจไปยังตลาดวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเริ่มปักธงที่ยุโรปในประเทศสเปนเป็นที่แรก นี่คือเส้นทางคร่าว ๆ ที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้เห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่เราเติบโตต่อยอดมาเรื่อย ๆ “
มองหาโอกาส ร่วมกันเรียนรู้ เพื่อนวัตกรรมที่ตอบโจทย์
ความท้าทายในปัจจุบันของพี่กรัณย์คือ การหา innovation มาตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภค นอกจากจะโฟกัสกับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ดูแลอยู่แล้ว ยังต้องมีหูตาที่กว้างไกล มองหาสิ่งใหม่ ๆ รอบตัวไปพร้อมกันด้วย
“การที่เราต้องหา innovation มาตอบโจทย์ผู้บริโภคตลอดเวลาเราจึงต้องพยายามสังเกตลูกค้า อย่ายึดติดกับสิ่งที่เราทำอยู่เท่านั้นหรืออย่าคิดว่าเราจะคิดเพิ่มต่อจากลูกค้ามิได้ เพราะในที่สุดพวกเราทุกคนก็คือ consumer เหมือนกัน เป้าหมายมันจะไปบรรจบกันตรงปลายทางที่เรียกว่า consumer และให้เราลองมองในมุมของ consumer เพิ่มด้วยว่าเราจะต้องการ innovation แบบไหน และมีใครตอบโจทย์เรื่องนี้แล้วหรือยัง การที่จะคิดไปจนถึงปลายทางนั้น ต้องช่วยกันทั้งองค์กร ทุกคนต้องช่วยกันคิด พยายามศึกษา ต้องสร้างให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ หรือ learning organization ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ผิดพลาด เรื่องที่สำเร็จ หรือเรื่องใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ที่อาจจะตอบโจทย์ลูกค้า เราจะต้องมีการแชร์กันให้แต่ละคนรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องน่าสนุกน่าสนใจ”
สร้างความเชื่อมั่น เปิดโอกาส ทดลองทำ
เมื่อก้าวขึ้นมาดูแลงานบริหาร การสร้างความเชื่อมั่นให้ทีมและการเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้เสมอ คือหัวใจสำคัญในการบริหารงานของพี่กรัณย์
“สำหรับพี่ การบริหารคนต้องเริ่มจากการสร้าง trust เราต้องพยายามทำให้น้อง ๆ และทีมเห็นว่าเราวางใจได้ เชื่อถือได้ เราต้องไม่มีอคติ ต้องมีความยุติธรรมเท่าเทียมกันทั้งหมด พร้อมให้โอกาสอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องและทั่วถึง
“ทุกคนสามารถออกความเห็น ถกเถียงกันได้ ซึ่งพี่ให้ความสำคัญมากเพราะบ่อยครั้งในองค์กรใหญ่มีลำดับชั้นเยอะ หัวหน้าจะสั่งอย่างเดียวเถียงไม่ค่อยได้ บางเรื่องที่น้องในทีมแสดงความเห็น และเรารู้สึกว่ายังไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ปล่อยให้เขาลองทำ ถ้ามันยังไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ต้องให้เขาได้ลอง เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญ”
ขับเคลื่อนองค์กร ด้วยการเป็นเจ้าของร่วมกัน
“เราเป็นบริษัทมหาชนที่ทุกคนมีความเป็นเจ้าของเหมือนกัน อยากให้น้อง ๆ ทำงานเต็มที่เสมือนเป็นเจ้าของ นี่คือความท้าทายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนเจเนอเรชันใหม่ ที่มีความคิดอยากเป็นเจ้าของกิจการตัวเอง
“วัฒนธรรมที่เราพยายามสร้างขึ้นคือ อยากให้ทุกคนทำงานแบบ collaborate ช่วยกันทำเสมือนว่าตัวเองเป็นเจ้าของ อันนี้สำคัญมากเพราะจะทำให้เกิดความทุ่มเท เรียนรู้ และสะสมองค์ความรู้ในระยะยาว การที่เราจะ excellence ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ว่าจะทำได้ภายในเวลาอันสั้น มันต้องสะสม ถ้าเรารู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของแล้ว เราจะทุ่มเทช่วยให้องค์กรเราเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปได้
“อยากให้น้อง ๆ พยายามเรียนรู้และศึกษา ปัจจุบันนี้ช่องทางในการหาข้อมูลก็ง่าย และมีหลายช่องทาง ลองศึกษาเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ควบคู่ไปกับความรู้ที่บริษัทสนับสนุนให้ ทุกคนต้องตระหนักว่า หากวันหนึ่งเราเป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง วันนั้นไม่มีใครมาสอนแล้ว หมั่นตั้งคำถามว่า ทำไมต้องทำแบบนี้ ทำไมไม่ทำอย่างนั้น เพื่อฝึกคิด หาคำตอบเพื่อให้ได้เหตุผลที่แท้จริง ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอด วันนี้เราอาจจะมีวิธีที่ดีกว่า ไม่ต้องใช้วิธีเดิมแล้วก็ได้ เราต้องพร้อมปรับอยู่เสมอ” พี่กรัณย์กล่าวทิ้งท้าย
SCGP ไตรมาสแรกเติบโตต่อเนื่อง มุ่งสู่เป้าหมายรายได้ 140,000 ล้านบาท เดินหน้าขยายธุรกิจและพร้อมก้าวเป็นองค์กร Net Zero
SCGP ทำรายได้จากการขายไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 เติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 36,634 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณความต้องการหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนทยอยฟื้นตัว ท่ามกลางปัจจัยความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เดินหน้าต่อตามแผนบริหารจัดการด้านต้นทุน รุกขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องด้วยความรอบคอบ มุ่งสู่เป้าหมายรายได้ในปีนี้ 140,000 ล้านบาท พร้อมกับขยายฐานลูกค้า B2C และยึดโมเดล ESG โดยเข้าร่วม Science Based Targets initiative (SBTi) ความร่วมมือระดับนานาชาติในการตั้งเป้าหมายการลดก๊าเรือนกระจกบนพื้นฐานที่มีการวัดผลทางวิทยาศาสตร์ซึ่งได้รับการยอมรับระดับสากล เพื่อยกระดับสู่ Net Zero ในปี 2593
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 มีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้จากการขาย 36,634 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนกำไรสำหรับงวดอยู่ที่ 1,658 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 22 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี EBITDA อยู่ที่ 4,887 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่รวมรายการพิเศษในไตรมาสก่อน กำไรสำหรับงวดและ EBITDA ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ยังคงสูงกว่าไตรมาสก่อน
รายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้นมาจากการเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และการรับรู้รายได้จากการสร้างการเติบโตร่วมกันกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Merger and Partnership : M&P) ของ Duy Tan, Intan Group และ Deltalab รวมถึงยอดขายจากกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Integrated Packaging Business) ที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคอาเซียน ทั้งบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ จากปริมาณความต้องการในกลุ่มสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค การส่งออกอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน อาหารแช่แข็ง และอาหารสัตว์เลี้ยง และปริมาณความต้องการและราคาของเยื่อกระดาษที่เพิ่มขึ้นจากความกังวลด้านการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน
ในส่วนของกำไรสำหรับงวดที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็นผลมาจากต้นทุนด้านวัตถุดิบและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรม ทั้งนี้ SCGP มีการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพและวางแผนบริหารจัดการล่วงหน้า โดยบริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายปริมาณถ่านหินระยะยาวที่ต้องใช้ในปีนี้ เพื่อลดผลกระทบจากราคาที่ผันผวนและปริมาณที่มีจำกัด รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อย่างต่อเนื่อง และวางแผนรับมือปัจจัยความไม่แน่นอนต่าง ๆ เช่น การบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม การพิจารณาโครงการลงทุนด้วยความรอบคอบ เป็นต้น
สำหรับแนวโน้มความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนในปีนี้ คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวจากการที่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 และเปิดประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นและเกิดการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่าหากสถานการณ์รัสเซีย–ยูเครนยังคงยืดเยื้อ ทำให้ราคาพลังงานและวัตถุดิบในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป
ทั้งนี้ SCGP มุ่งทำรายได้จากการขายในปีนี้ 140,000 ล้านบาทตามเป้าหมาย และเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยวางงบลงทุนในปีนี้ประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ภายใต้แผน 5 ปี (ปี 2565–2569) ที่จะใช้งบลงทุนรวม 100,000 ล้านบาท โดยจะพิจารณาลงทุนอย่างระมัดระวังและรอบคอบ เน้นธุรกิจในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำ (Downstream) ที่มีศักยภาพการเติบโตในระยะยาวและได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค พร้อมกับการยึดมั่นในการดำเนินงานตามแผนบริหารความต่อเนื่องของการดำเนินงาน (Business Continuity Management) เพื่อลดความเสี่ยงจากทั้งภายในและภายนอกองค์กร เน้นด้านการมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านการปฏิบัติการ (Operational Excellence) การสร้างคุณค่าจากการผนึกกำลังทางธุรกิจ การบริหารจัดการต้นทุนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมท่ามกลางแนวโน้มภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ยิ่งไปกว่านั้น SCGP ได้ยึดหลักการดำเนินธุรกิจด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจและการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ SCGP ได้เข้าร่วม Science Based Targets initiative (SBTi) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติต่าง ๆ และในปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำกว่า 2,000 แห่งทั่วโลกที่เข้าร่วมในโครงการ เพื่อตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกบนพื้นฐานที่มีการวัดผลทางวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและสอดคล้องกับเป้าหมายตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต เพื่อให้ SCGP สามารถบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593
Earth Day 2022 – When Mother Earth Sends Us a Message
Mother Earth is clearly urging a call to action. Nature is suffering, extreme heat, wildfires and floods, as well as a record-breaking Atlantic hurricane season, have affected millions of people. Even these days, we are still facing Covid-19, a worldwide health pandemic linked to the health of our ecosystem.
Climate change, man-made changes to nature as well as crimes that disrupt biodiversity, such as deforestation, land-use change, intensified agriculture and livestock production or the growing illegal wildlife trade, can accelerate the speed of destruction of the planet.
For this International Mother Earth Day, let’s remind ourselves – more than ever – that we need a shift to a more sustainable economy that works for both people and the planet. Let’s promote harmony with nature and the Earth. Join the global movement to restore our world!
Source: https://www.un.org/
Earth Day 2022 – เมื่อโลกส่งข้อความถึงเรา
โลกกำลังส่งเสียงร้องให้เราแก้ไขอย่างเร่งด่วน ธรรมชาติเป็นทุกข์ ไฟป่า และน้ำท่วม ตลอดจนฤดูพายุเฮอริเคนแอตแลนติกที่ทำลายสถิติ ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนหลายล้าน รวมถึงการเผชิญกับ COVID-19 ซึ่งเป็นโรคระบาดด้านสุขภาพทั่วโลกที่เชื่อมโยงกับสุขภาพของระบบนิเวศของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ และพฤติกรรมที่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า เกษตรกรรมและการผลิตปศุสัตว์ที่ไม่เหมาะสม และการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย ล้วนมีส่วนเร่งความเร็วในการทำร้ายโลก
สำหรับ Earth Day ในปีนี้ เรามาเตือนตัวเองให้มากขึ้นกว่าเดิมว่า เราต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่การดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น คือทางรอดไม่ใช่ทางเลือก เพื่อทุกคนและโลกของเรา!