SCGP Newsroom

SCGP ลงทุนในธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ เข้าถือหุ้นบริษัทในสหรัฐอเมริกา มุ่งเพิ่มศักยภาพจัดหาวัตถุดิบ พร้อมผนึกเครือข่ายในยุโรปและอาเซียนเพิ่มประสิทธิภาพด้านรีไซเคิล

SCGP ขยายการลงทุนในธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ รับเทรนด์บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนที่กำลังเติบโต เข้าถือหุ้นใน “Jordan Trading Inc.” ผู้จัดหาและจำหน่ายวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลในสหรัฐอเมริกา เพิ่มความสามารถจัดหาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลอีก 1 แสนตันต่อปี และเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจผ่านการผสานความร่วมมือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านรีไซเคิลกับเครือข่ายในอาเซียนและยุโรปอย่าง Peute ผู้ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า เทรนด์ความต้องการบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ SCGP รุกขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องในธุรกิจรีไซเคิลวัสดุ บรรจุภัณฑ์ เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าวและเสริมศักยภาพให้กับการดำเนินธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในทุกระดับ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบที่หลากหลาย การผลิตสินค้าทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ ตลอดถึงการนำเสนอโซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร ล่าสุดได้เข้าถือหุ้นร้อยละ 90.1 ใน Jordan Trading Inc. หรือ Jordan (จอร์แดน) ผู้ดำเนินธุรกิจจัดหาและจำหน่ายวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล (Recovered Paper – RCP) ที่ตั้งอยู่ในรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยธุรกรรมดังกล่าวดำเนินการผ่านบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นใหม่และถือหุ้นทั้งหมด ใช้เงินลงทุน 1.98 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 73 ล้านบาท สำหรับหุ้นที่เหลืออีกร้อยละ 9.9 ใน Jordan ถือโดย SCG International USA Inc. หรือ SCG INTL US ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) โดย SCGP จะเริ่มแสดงผลประกอบการของ Jordan ในงบการเงินรวมตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 เป็นต้นไป

Jordan มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจจำหน่ายวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลกว่า 34 ปี และมีเครือข่ายการจัดหาวัตถุดิบครอบคลุมพื้นที่ตอนกลางถึงฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลคุณภาพสูงรายใหญ่ที่สุด โดยมีความสามารถจัดหาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลประมาณ 1 แสนตันต่อปี ด้วยระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมทั้งการขนส่งสินค้าในประเทศและทางเรือ ผลการดำเนินงานของ Jordan ในปี 2564 มีรายได้ 15.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 568 ล้านบาท และมีกำไร 1 แสนเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4 ล้านบาท โดยมีทรัพย์สินรวม 3.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 117 ล้านบาท ณ สิ้นปี

การทำธุรกรรมดังกล่าวนับเป็นการลงทุนอย่างต่อเนื่องในการขยายธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบ Merger & Partnership (M&P) หลังจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้เข้าถือหุ้นร้อยละ 100 ใน Peute Recycling B.V. หรือ Peute (เพอเธ่) ผู้ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์และจำหน่ายวัตถุดิบกระดาษและพลาสติกรายใหญ่ที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ระยะกลางของ SCGP ที่จะเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจรของบริษัทฯ อีกทั้งการผสานการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง Jordan และ Peute จะเพิ่มขีดความสามารถการขยายฐานการจัดหาวัตถุดิบรีไซเคิลในต่างประเทศ และส่งผลดีต่อการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบกล่องกระดาษใช้แล้วคุณภาพสูงในสหรัฐอเมริกา (American Old Corrugated Containers: AOCC) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ช่วยเพิ่มคุณภาพกระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษได้โดยตรง

“SCGP มั่นใจว่าการผนึกกำลังทางธุรกิจกันครั้งนี้ จะสามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจของ SCGP ให้กับเครือข่ายรีไซเคิลในภูมิภาคอาเซียน Peute ในยุโรป และ Jordan ในสหรัฐอเมริกา เพื่อยกระดับขีดความสามารถการดำเนินงานต่อไป” นายวิชาญ กล่าว

SCGP มุ่งมั่นตอบสนองต่อการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน โดยนำเสนอสินค้า บรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ กระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดจนให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์ที่โดดเด่นอื่น ๆ โดยมีฐานการผลิตกว่า 50 แห่งในประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สหราชอาณาจักร สเปน และเนเธอร์แลนด์

“เอาใจเขา มาใส่ใจเรา” ACT ดี ๆ ที่เชื่อม SCGP และชุมชนไว้ด้วยกัน

การอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างมีความสุขเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักที่ SCGP ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ที่โรงงานตั้งอยู่ เราใช้โอกาสนี้ตามติดพี่นิ – เบญญาภา พยมพฤกษ์ CSR Officer บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด โรงงานวังศาลา ลงพื้นที่ปฏิบัติงานกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ในพื้นที่รอบโรงงานวังศาลา พร้อมทั้งเก็บเกี่ยวนำแนวคิดและ Mindset ดี ๆ มาบอกต่อ เพื่อสร้าง Passion ในการทำงานให้เพื่อนๆ ได้นำไปปรับใช้กัน

 

“พี่เป็นเจ้าหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ที่บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด 30 ปีแล้ว ชุมชนแถวนี้จะคุ้นเคยกับพี่ในชื่อนิค่ะ หน้าที่ของพี่คือ สร้างความสัมพันธ์กับชุมชน โดยชุมชนที่พี่ดูแลอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบโรงงานมีประมาณ 55 หมู่บ้าน

“เราต้องสร้างความคุ้นเคย ต้องรู้จักเขา และเขาก็จะรู้จักเรา ต้องเรียนรู้ วิถีชีวิต ขนบธรรมเนี่ยมในชุมชน คอยสังเกตและเชื่อมโยงประสบการณ์ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วม โดยออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน พยายามค้นหาความต้องการหรือความคาดหวังของเขา และกำหนดบทบาทของ SCGP ที่เหมาะสม คอยดูว่าเราให้ความช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เพื่อให้เขาอยู่รอบโรงงานเราได้อย่างมีความสุข

“ความท้าทายของงานพี่คือ ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว คาดเดาไม่ได้ว่าเราจะต้องเจอสถานการณ์แบบไหน แต่เราต้องพร้อมรับมืออยู่เสมอ เราจึงต้องมี Mindset ในเรื่อง ‘การเอาใจเขา มาใส่ใจเรา’ อยู่ตลอดเวลา การไปทำงานกับชุมชน เราต้องเอาใจเขามาแทนที่ในใจเราให้ได้เมื่อรู้ความต้องการที่แท้จริงแล้ว ก็เอาข้อมูลเหล่านั้นมาออกแบบวิธีการทำงาน เราต้องคิดถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพราะจะทำให้งานดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและตรงตามความคาดหวังของเขา ทั้งหมดนี้ป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของงานพี่ หากงานที่ทำได้รับการยอมรับจากชุมชนเป็นอย่างดี ก็จะส่งผลดีต่อบริษัทฯ ด้วยตัวพี่ทำงานด้วยแนวคิดแบบนี้จนเป็น Our Act ของเราไปแล้วทำโดยไม่รู้ตัว จนวันหนึ่งเรามองย้อนกลับมาจึงเห็นว่า นี่คือสิ่งที่เราทำมาตลอด 30 ปี เลย

“สำหรับ Passion ในการทำงาน พี่เป็นคนกระตือรือร้น อยากทำงานทุก ๆ วัน พี่มองว่างานที่ทำอยู่นั้นเป็นงานของเราเอง เราคือเจ้าของกิจการ ทุกคนที่เกี่ยวข้องคือลูกค้าทั้งหมด มันก็จะช่วยให้เราใส่ใจและเต็มที่กับทุกงาน ผลลัพธ์ที่ได้จากการทุ่มเทแรงกายแรงใจลงไป ทำให้เราไม่รู้สึกเสียดาย ไม่ว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ก็คิดแค่ว่ามันคือโอกาสที่ได้รับมอบหมาย และเราได้ทำเต็มที่แล้ว พี่จะพยายามมองหาสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในทุก ๆ งาน เพราะว่าอย่างน้อยจะมีสักหนึ่งอย่างที่เกิดจากความพยายามของเราและทำให้งานนั้นสำเร็จ”

ถักทอสายใย สานใจชุมชน

ตัวอย่างที่ SCGP ส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชนคือ “งานหัตถกรรมจักสานจากเส้นเทป Paper Band” ซึ่งเกิดขึ้นจากการคำนึงถึงชุมชนในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยนำเศษวัสดุที่เหลือจากกระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบในการจักสาน ผนวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น จนสามารถสร้างอัตลักษณ์ของสินค้าที่แตกต่างจากท้องตลาด และสร้างยอดขายได้มากกว่า 1 ล้านบาทในปี 2562

“เราคิดว่า เศษวัสดุที่เหลือใช้ในกระบวนการผลิตจะสามารถนำไปต่อยอดขยายผล สร้างเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในชุมชนได้อย่างไร การทำงานนี้จึงเป็นการสานความร่วมมือ สานความสัมพันธ์ สานความคิด จนเกิดเป็นผลงานหัตถกรรมที่ใช้งานได้จริง และตลาดก็ตอบรับดี การทำงานนี้ถือว่าชุมชนลงทุนแรงกายแรงใจ SCGP ลงทุนวัตถุดิบ ทุกคนมีส่วนร่วมในงานนี้หมด นอกจากนี้เรายังมีแผนในอนาคตที่จะพาชุมชนไปเรียนรู้เกี่ยวกับแฟชั่นใหม่ ๆ เพื่อนำกลับมาพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ได้มากขึ้น เช่นมีสีสันสวยงาม และเป็นไปตามยุคสมัย”

ถุงกระดาษสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค

ถุงกระดาษสำหรับบรรจุสินค้าอุปโภคบริโภค
ที่ออกแบบด้วยความใส่ใจครบทุกมิติ ทั้งดีไซน์ที่สวยงาม เลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมกับการบรรจุสินค้า รวมถึงความยั่งยืนในการผลิต โดยสามารถนำกลับมารีไซเคิลเป็นวัตถุดิบใหม่ได้

คุณสมบัติ

  • ถุงกระดาษที่สะอาดและปลอดภัย ผ่านการผลิตด้วยเครื่องจักร ที่ทันสมัย บรรจุลงในกล่องช่วยป้องกันเชื้อโรคและฝุ่นผง
  • ผลิตจากกระดาษคราฟต์ที่ผลิตจากเยื่อรีไซเคิลที่มี Recycle Contentตั้งแต่ 70 ถึง 100% ตามประเภทกระดาษ โดยใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • พิมพ์ด้วยหมึกฐานน้ำ (Water-based ink) ที่ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม
  • กระดาษรีไซเคิลสามารถนำกลับมาใช้หมุนเวียนผลิตเป็นเยื่อ เพื่อนำมาผลิตเป็นถุงกระดาษใหม่ หรือสามารถย่อยสลายได้ ตามธรรมชาติภายใน 6 เดือน

 

การันตีคุณภาพในทุกกระบวนการ

1. Circular Mark ได้รับการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์หมุนเวียน (Circular Mark) เป็นกลุ่มแรกของประเทศไทยจากมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

2. Circular Design ออกแบบโดยคำนึงถึงทุกองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณการใช้วัสดุ ขนาด ความหนา และความแข็งแรงให้เหมาะสมกับสินค้าที่บรรจุ

3. Circular Economy เน้นใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตั้งแต่การออกแบบเพื่อการหมุนเวียนวัสดุ โดยนำกระดาษที่มีสัดส่วนของวัสดุเยื่อรีไซเคิลมาใช้ในการผลิตถุง กระบวนการผลิตที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากร พลังงาน การพิมพ์ ตลอดจนการใช้งาน ที่พร้อมสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการนำกระดาษที่ใช้แล้วกลับมารีไซเคิลเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่ (Make-Use- Return) โดยมีจุดรับซื้อเศษกระดาษกระจายอยู่ทั่วประเทศและยังมีโครงการรับซื้อเศษกระดาษจากองค์กรต่างๆ อย่างเป็นระบบ

นับเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจและมุ่งมั่นในการพัฒนาสินค้าที่คำนึงถึงผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน เพื่อความยั่งยืนของโลกใบนี้

GLOBAL SUMMIT OF WOMEN 2022 ผสานความร่วมมือระดับชาติและเวทีโชว์ศักยภาพของ SCGP

ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำสตรีโลก 2022 (Global Summit of

Women 2022) ที่จัดขึ้นในวันที่ 23 – 25 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอก

คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีตัวแทนผู้นำสตรีจากภาครัฐและเอกชนจากทั่วโลก

เข้าร่วมประชุม ภายใต้ธีม ‘”Women: Creating Opportunities in the New Reality”

 

การจัดงานในครั้งนี้เป็นงานที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 32 ถือเป็นโอกาสอันดีในการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมและศักยภาพของประเทศไทยในการจัดประชุมระดับนานาชาติ และการเป็น “World Destination” ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการสร้าง ความเชื่อมั่นให้กับนานาชาติถึงความพร้อมด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย

หัวข้อการประชุมของงานให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังเผชิญกับวิกฤติโรคระบาด ซึ่งเป็นตัวเร่งสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ถูกนำมาปรับใช้ สร้างความเปลี่ยนแปลงและความเติบโตให้กับธุรกิจ ผ่านอีคอมเมิร์ซ เวทีในครั้งนี้ ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในการขับเคลื่อนและร่วมกันสร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ร่วมถึงการสร้างแรงบันดาลให้กับผู้หญิง ไม่ว่าในฐานะพนักงาน เจ้าของธุรกิจ ผู้บริโภค หรือนักลงทุน แสดงให้เห็นถึงพลังและบทบาทของผู้หญิงในการส่งเสริมเศรษฐกิจโลกให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ในงานครั้งนี้ คุณไขศรี เนื่องสิกขาเพียร กรรมการอิสระและประธานกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้รับเชิญให้เป็นกรรมการในการจัดงาน ซึ่งนับเป็นโอกาสดีของ SCGP ในการแสดงจุดยืนเพื่อสนับสนุนบทบาทของผู้นำสตรีบนเวทีระดับโลก โดยในปีนี้การประชุมมีความพิเศษโดยจัดแบบรักษ์โลก “Carbon Neutra!” ที่จะมีการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการประชุม ซึ่งเกิดจากการร่วมมือกันขององค์กรชั้นนำระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไฟฟ้าการเดินทางของผู้เข้าร่วมประชุม การจัดเลี้ยงอาหาร การบริหารขยะและของเสียภายในงาน

ทั้งนี้ SCGP ร่วมสนับสนุนผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ตกแต่งและของที่ระลึกที่สอดแทรกเอกลักษณ์ความเป็นไทย เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อร่วมลดปริมาณการปล่อยก๊ซเรือนกระจก ซึ่งคุณไขศรีเผยว่า จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ SCGP ได้แสดงให้เห็นถึงคุณค่าและศักยภาพที่มีต่อนานาชาติ

“SCGP เป็นบริษัทที่ลงมือทำให้เห็นเป็นตัวอย่างมาตลอด โดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ทุกวันนี้แค่แยกขยะ ปลูกต้นไม้ไม่พอแล้ว ต้องมีอย่างอื่นที่ชัดเจน และในฐานะองค์กรชั้นนำในธุรกิจ เราจึงใช้โอกาสนี้แสดงถึงกระบวนการทำงานและการดำเนินธุรกิจ ที่ตั้งอยู่บนความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง จากการแสดงผลงานต่าง ๆ ที่เราร่วมสนับสนุนในงาน ทำให้เห็นศักยภาพด้านการออกแบบและสร้างสรรค์ให้เหมาะสมกับการใช้งานจริง แข็งแรง ทนทาน รวมถึงความสวยงาม เราก็สามารถทำได้ดี นอกจากนี้ ประเด็นต่างๆ ที่สำคัญในงาน ทั้งเรื่องทิศทางธุรกิจ ความเท่าเทียม การสร้างโอกาส การสร้างแรงบันดาลใจและนวัตกรรมต่าง ๆ ล้วนเป็นทิศทางที่เรากำลังมุ่งไปทั้งหมด

“ขณะเดียวกัน การมีส่วนร่วมในงานครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่จะทำให้ต่างชาติรู้จักเรามากขึ้น ดอกย้ำการเป็นผู้นำทางด้านบรรจุภัณฑ์ที่กำลังขยายธุรกิจไปสู่ต่างประเทศมากขึ้นและจะเป็นเครื่องยืนยันสิ่งที่เราทำทั้งหมดต่อนานาชาติ”

ส่งต่อแรงบันดาลใจ

“ในช่วงเวลาของพี่ การที่ผู้หญิงจะขึ้นมาเป็นผู้นำขององค์กร ถือว่าต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติ แต่ในยุคสมัยนี้พี่เห็นว่าหลาย ๆ องค์กรมีผู้นำหญิงมากขึ้น งานในครั้งนี้จะเป็นเวทีให้คนกล้าเปลี่ยนแปลง และส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น โดยหัวข้อของงานพูดถึง ‘Creating Opportunities in the New Reality’ ซึ่งผู้หญิงเราจะต้องมองหาโอกาสและไม่ละทิ้งโอกาส ในปัจจุบันโอกาสมีเยอะมาก ไม่ต้องไปเปรียบเทียบว่าเราคือผู้หญิงหรือผู้ชาย อย่าตัดโอกาสตัวเองและไม่ต้องรอให้คนอื่นมาสร้างโอกาสให้เรา การเปลี่ยนแปลงใด ๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าตัวเราไม่อยากจะเปลี่ยนแปลง

“ฝากถึงน้อง ๆ ทุกคนว่า การเรียนรู้ที่ไม่รู้จบและการไม่ปิดกั้นตัวเอง จะทำให้เราเปิดกว้าง และพร้อมที่จะปรับตัว ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร”

 

คุณไขศรี เนื่องสิกขาเพียร

กรรมการอิสระและประธานกรรมการตรวจสอบ

คณะกรรมการ บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)

 

เบื้องหลังการออกแบบ

กระทงดอกบัวกระดาษ

แนวคิดการออกแบบ: ทันสมัย เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน มีความแข็งแรง และสวยงาม โดยใช้การซ้อนกันของกระดาษ การพับกลีบ ขัดแผ่นขึ้นรูป ให้ตัวกระทงช่วยยืดเทียนโดยไม่ต้องใช้กาวหรือวัสดุอื่น เพื่อให้ง่ายแก่การนำไปรีไซเคิล

ฉากวางหุ่นโขน

แนวคิดการออกแบบ: นำเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมเจดีย์ไทยมาใช้เป็นฉากหลังที่สวยงามของตัวหุ่นโขน ผ่านการพับขึ้นรูปที่ง่ายและเพิ่มความสนใจด้วยรูปแบบการ์ดป็อปอัพ 3 มิติ กางออกเพื้อตั้งโชว์ได้ง่าย

โมเดลโลโก้งาน

แนวคิดการออกแบบ: ใช้สัญลักษณ์ของงานมาประกอบให้เป็น 3 มิติสามารถมองได้ 360 องศา รูปทรงภายนอกสามารถมองได้เป็น 2 รูปแบบคือ กระถางดอกไม้ที่สื่อถึงความสวยงามและความเป็นผู้หญิง และต้นไม้ ที่สื่อถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม

ของที่ระลึกโมเดลช้าง

แนวคิดการออกแบบ: นำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านช้างที่เป็นสัตว์ประจำชาติ รูปทรงหลายเหลี่ยมประกอบกันพิมพ์บนกระดาษ มีสีสันหลากหลายสะท้อนไปมาคล้ายปริซึม แสดงถึงมุมมองที่เปิดกว้าง ยอมรับสิ่งใหม่ พร้อมจะเจริญเติบโตและกลับไปเป็นประโยชน์กับสังคม

การเลือกใช้วัสดุของงานทุกชิ้นคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการใช้ทรัพยากร ผลิตจากกระดาษรีไซเคิลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ออกแบบโดยใช้การขึ้นรูปแบบพับ ตอบโจทย์การใช้งาน น้ำหนักเบา พับเก็บง่าย ประหยัดพื้นที่ในการเก็บ สามารถนำมาใช้ซ้ำและยังสามารถนำไปรึไซเคิลได้

 

SCGP เปิดเวที Gen Z ส่งเสียง เปลี่ยนโลก ด้วยแพคเกจจิ้ง ชวนประลองไอเดียในกิจกรรม ‘SCGP Packaging Speak Out 2022’

SCGP Packaging Speak Out 2022
ส่งเสียง เปลี่ยนโลก ด้วยแพคเกจจิ้ง ภายใต้แนวคิด RETHINK FOR BETTER NORMAL
SCGP จัดโครงการประกวดออกแบบบรรจุภัณฑ์ ในระดับอุดมศึกษา ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6
ในปีนี้เราขอชวนคนรุ่นใหม่ที่อยากจะเปลี่ยนโลกและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ออกมาส่งเสียง เปลี่ยนโลก ด้วยแพคเกจจิ้ง ภายใต้แนวคิด RETHINK FOR BETTER NORMAL เพื่อให้ชีวิตประจำวันน่าอยู่กว่าที่เคย

 

โจทย์ของโครงการ / THE BRIEFS

เพราะเรื่องปกติ อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ปกติสำหรับทุกคน

SCGP ชวนเหล่า Gen Z ประกวดออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน ผ่านการส่งชิ้นงานที่เกี่ยวข้องกับ

การ EASY to RECYCLE” หรือ UPCYCLE”

ถ้าคุณอยากส่งเสียง ให้โลกนี้ดีขึ้น … เราขอมอบเวทีนี้ให้คุณ

 

ชิงเงินรางวัลรวม 210,000 บาท

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและส่งผลงาน ได้ที่เว็บไซต์ SCGPackaging.com

ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 12 กันยายน 2565

สอบถามเพิ่มเติมที่ LINE OA https://lin.ee/p9pYG0G

 

นิยามของคำว่า “UPCYCLE” และ “EASY to RECYCLE” ในการประกวดออกแบบบรรจุภัณฑ์ SCGP Packaging Speak Out 2022

EASY to RECYCLE – ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ให้ง่ายต่อการแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล ไม่ว่าจะเป็นการคิดออกแบบเพื่อแยกชิ้นส่วนของบรรจุภัณฑ์ หรือการออกแบบกราฟิกบนบรรจุภัณฑ์เพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจในวิธีการรีไซเคิลของบรรจุภัณฑ์นั้น ๆ การออกแบบนั้นต้องให้ผู้บริโภคทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก และซับซ้อน

 

UPCYCLE – ออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยคำนึงถึงการยืดอายุการใช้งานของบรรจุภัณฑ์ให้ยาวนานขึ้น ก่อนที่จะนำไปทิ้ง โดยใช้วิธีการเปลี่ยนรูปร่าง (Transformation) ของบรรจุภัณฑ์หลังจากที่นำสินค้าออกมา ให้สามารถใช้งานได้อีกครั้ง (Reuse) โดยรอยตัด รอยพับ หรือรอยปรุต้องอยู่บนบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่กระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ กรณีที่เป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกอนุโลมให้ใช้เครื่องมือตัด เจาะ และกาวเพิ่มเติมเพื่อช่วยในกระบวนการแปรรูปได้ การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของบรรจุภัณฑ์ ต้องให้ผู้บริโภคทำได้ง่าย ไม่ซับซ้อน

 

*รางวัล The Best of Challenge จำนวน 1 รางวัล สำหรับทีมที่ได้รับคะแนนสูงสุด จะได้รับเงินรางวัลทีมละ 70,000 บาท และมอบประกาศนียบัตรใส่กรอบจาก SCGP ให้สมาชิกทุกคนในทีม รางวัล Runner-Up จำนวน 1 รางวัล สำหรับทีมที่ได้รับคะแนนเป็นอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัลทีมละ 50,000 บาท และมอบประกาศนียบัตรใส่กรอบจาก SCGP ให้สมาชิกทุกคนในทีม และรางวัล Honorable Mentions จำนวน 3 รางวัล สำหรับทีมที่ได้รับคะแนนเป็นอันดับ 3-5 ได้รับเงินรางวัลทีมละ 30,000 บาท

 

ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการเป็นนักเรียนและนักศึกษา อายุระหว่าง 17-25 ปี โดยมีอายุไม่เกิน 25 ปี ในวันที่ 12 กันยายน 2565 ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดสัญชาติ ไม่จำกัดสถาบันการศึกษา คณะและชั้นปีที่ศึกษา โดยสมัครเป็นทีมที่มีสมาชิกรวมไม่เกิน 3 คน จะคัดเลือกผู้เข้ารอบ Finalist จำนวน 10 ทีม ซึ่งจะได้เข้าร่วมกิจกรรม Design Consulting” โดยนักออกแบบจาก SCGP และผู้เข้ารอบ Finalist จำนวน 10 ทีม จะได้รับประกาศนียบัตรออนไลน์จาก SCGP เพื่อเป็นการการันตีว่าคุณได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาแพคเกจจิ้ง เพื่อต่อยอดและนำไปใช้จริงได้ในอนาคต

 

Remark

  • การประกวด SCGP Packaging Speak Out 2022 แบ่งเป็นการประกวดที่ประเทศไทย และการประกวดที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งแยกการตัดสินผลงาน และการมอบรางวัลเป็นเอกเทศกัน ผู้สมัครต้องพิจารณาเข้าร่วมโครงการในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถเข้าร่วมประกวดพร้อมกันทั้ง 2 ประเทศได้ โดยทีมงานจะพิจารณาตัดสิทธิ์ทีมที่มีผู้สมัครส่งผลงานเข้าร่วมทั้ง 2 ประเทศทันที
  • การประกวด SCGP Packaging Speak Out 2022 แบ่งเป็นการประกวดที่ประเทศเวียดนาม เปิดรับสมัครวันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายน 2565

SCGP ปรับตราสัญลักษณ์องค์กร รับวิสัยทัศน์ก้าวสู่บริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในระดับสากล

SCGP ปรับตราสัญลักษณ์องค์กร (Logo) สอดรับวิสัยทัศน์ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านโซลูชันบรรจุภัณฑ์ครบวงจรในภูมิภาค ที่มีแนวทางดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน เผยแรงบันดาลใจการออกแบบมาจากแนวคิดการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของธุรกิจ ชุมชน สังคม และโลก

 นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP
เปิดเผยว่า SCGP ได้กำหนดวิสัยทัศน์ก้าวสู่การเป็น Multinational Consumer Packaging Solutions หรือผู้นำด้านโซลูชันบรรจุภัณฑ์ครบวงจรในภูมิภาค พร้อมทั้งวางกลยุทธ์ทางธุรกิจสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน มุ่งขยายธุรกิจและการตลาดในภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ อาเซียน ยุโรป อเมริกาเหนือ ฯลฯ การนำเสนอโซลูชันแบบครบวงจร การพัฒนาสินค้าและนวัตกรรมรวมถึงบริการที่หลากหลายและยั่งยืน เพื่อส่งมอบประสบการณ์เหนือความคาดหมายและตอบสนองความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภค ภายใต้กระบวนการผลิตและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีคุณภาพและมีมาตรฐานระดับสูง รวมถึงดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และคำนึงถึงผู้มีส่วนร่วมกับธุรกิจของบริษัทฯ ทุกกลุ่มภายใต้กรอบแนวคิด ESG

จากวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ที่วางไว้ SCGP จึงปรับ “ตราสัญลักษณ์” (Logo) ให้มีอัตลักษณ์ที่เป็นสากล และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทใน SCGP เป็นหนึ่งเดียวกันในการส่งมอบคุณค่าแก่ลูกค้าผ่านสินค้า บริการและโซลูชัน ตลอดจนสร้างการรับรู้และตอกย้ำแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

ตราสัญลักษณ์ของ SCGP ออกแบบภายใต้แนวคิดการเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของธุรกิจ ชุมชน สังคม และโลก โดยใช้ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่และตัวหนาสะท้อนถึงความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ และธรรมาภิบาลที่สั่งสมมาอย่างยาวนานจากแบรนด์ SCG ตัวอักษร P อัตลักษณ์สำคัญที่สื่อถึง Packaging & Possibility บรรจุภัณฑ์และความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่ร่วมกันต่อยอดพัฒนาจาก People หรือคน ได้แก่ พนักงาน พันธมิตร ลูกค้า และสังคม ด้วย Passion ที่ทุกคนมีร่วมกัน เพื่อ Planet โลกของเราที่ดีขึ้นและพร้อมที่จะเติบโตร่วมกันอย่างไม่สิ้นสุด โดยตัวอักษรทั้งสี่ตัวมีความโค้งมนหมายถึงความยืดหยุ่นและพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ ผ่านการเลือกใช้สีน้ำเงินเป็นสีหลักของตราสัญลักษณ์ หมายถึงความน่าเชื่อถือของแบรนด์ และสีส้มสื่อถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ที่ตั้งอยู่บนฐานของสีน้ำเงิน เมื่อนำทั้ง 2 สีมาผสมผสานกันเป็นการแสดงถึงการขับเคลื่อนพลังแห่งการสร้างสรรค์ ผสมผสานกับเส้นสายของ Infinity Growth Line เพื่อตอกย้ำถึงวงแห่งการเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด พร้อมตอบสนองความต้องการของลูกค้า ผู้บริโภค พันธมิตร และสังคม

ตราสัญลักษณ์ SCGP นี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่น ทุ่มเท มุ่งสู่เป้าหมายการเติบโตในระดับอาเซียนและในระดับสากล ด้วยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังอย่างสร้างสรรค์ และการประสานกำลังทางธุรกิจ (synergy) ภายในฐานการผลิตทั้งหมดของ SCGP จำนวน 57 แห่งทั่วโลก ทั้งในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศมาเลเซีย สหราชอาณาจักร ประเทศสเปน และประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อพัฒนาโซลูชันบรรจุภัณฑ์ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายและช่วยให้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคให้สะดวกสบายขึ้น

SCGP ทำรายได้ครึ่งปีแรกโตต่อเนื่อง โดดเด่นไตรมาสสองที่ 37,982 ล้านบาท มองดีมานด์บรรจุภัณฑ์ในอาเซียนทยอยฟื้นตัว เพิ่มเป้าหมายรายได้เป็น 150,000 ล้านบาท

SCGP ตอกย้ำศักยภาพธุรกิจ ทำรายได้จากการขายครึ่งปีแรก 74,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ของไตรมาสที่สอง 37,982 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์อาหารที่เพิ่มขึ้น การเติบโตของทุกธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และการรวมผลการดำเนินงานในธุรกิจที่เข้าไปลงทุน มองดีมานด์บรรจุภัณฑ์ในอาเซียนฟื้นตัวต่อเนื่อง พร้อมลุยครึ่งปีหลัง เดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว พัฒนาช่องทางขยายฐานลูกค้าที่เติบโตสูง ควบคู่กับการประสานประโยชน์ (Synergy) เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั้งห่วงโซ่อุปทาน ขยับเป้าหมายรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 150,000 ล้านบาท บอร์ดไฟเขียวจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลหุ้นละ 0.25 บาท เตรียมขึ้น XD วันที่ 8 สิงหาคมนี้

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 มีรายได้จากการขายเท่ากับ 74,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตของทุกสายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และการรวมผลดำเนินงานของ Duy Tan, Intan Group และ Deltalab รวมถึงปริมาณความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์อาหารที่เพิ่มขึ้น มี EBITDA เท่ากับ 10,365 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรสำหรับงวดเท่ากับ 3,514 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ โดยมีรายได้จากการขาย 37,982 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรสำหรับงวดอยู่ที่ 1,856 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน EBITDA เท่ากับ 5,478 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 คณะกรรมการบริษัทอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2565 ในอัตรา 0.25 บาทต่อหุ้น เป็นเงินทั้งสิ้น 1,073 ล้านบาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 กำหนด XD ในวันที่ 8 สิงหาคม 2565 และกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล (Record date) วันที่ 9 สิงหาคม 2565

นายวิชาญ กล่าวต่อว่า ภาพรวมความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในครึ่งปีหลังของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากนโยบายเปิดประเทศที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความคึกคักให้กับการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคและความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์จากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงในหมวดสินค้าแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยเชิงบวกต่อความต้องการบรรจุภัณฑ์ อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและปัจจัยต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่มีผลต่อราคาพลังงานในตลาดโลก โดยคาดว่าราคาพลังงานครึ่งปีหลังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง SCGP มุ่งสร้างการเติบโตที่มั่นคงต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายรายได้จากการขายรวมในปีนี้เท่ากับ 150,000 ล้านบาท ทั้งนี้จะพิจารณาการดำเนินธุรกิจและการลงทุนด้วยความรอบคอบและเหมาะสม โดยยังคงงบลงทุนรวมในปีนี้ประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การขยายกำลังการผลิต และสร้างการเติบโตร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Merger and Partnership : M&P) โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 SCGP ได้ลงทุนโครงการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกเพื่อรองรับความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทยอีก 75,000 ตันต่อปี และล่าสุดได้ขยายการลงทุนในธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ (Packaging Materials Recycling Business) ใน Peute Recycling B.V. (Peute หรือ เพอเธ่) และการลงทุนใน Imprint Energy Inc. (Imprint) ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ผลิตแบตเตอรี่ด้วยการพิมพ์ (Printed Battery) โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 105 ล้านบาท และมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ร้อยละ 3.3 เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโต สามารถนำความรู้ความเชี่ยวชาญมาขยายสู่ภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคต รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะได้ด้วย

SCGP ยังคงมุ่งดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนตามกรอบแนวคิด ESG และการก้าวไปสู่เป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 ด้วยการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตให้ใช้พลังงานในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนานวัตกรรมสินค้า บริการ และโซลูชันที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมถึงขยายความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อน ESG ล่าสุด SCGP ได้ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง บริษัท คาโอ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Kao ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและธุรกิจเคมีภัณฑ์ชั้นนำ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมและการให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว เป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของสองบริษัทที่มีเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างแนวทางที่ยั่งยืนสำหรับผู้บริโภค

SCGP x THINKK Studio แบ่งปันไอเดีย แปลงร่างสร้างมูลค่างานดีไซน์จากวัสดุเหลือใช้

    ผ่านไปแล้วกับสัมมนาออนไลน์ Design Talk “TRANSFORMATION” Waste to Value เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 ที่ SCGP จับมือกับ THINKK Studio ร่วมกันส่งต่อความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG (Environmental, Social, and Governance) รวมถึงแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ SCGP มุ่งเน้นผ่านการลดการใช้ทรัพยากร การใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบต่างๆ

 

    หนึ่งในแนวทางที่ SCGP ดำเนินการก็คือ Upcycle หรือการนำวัสดุเหลือใช้มาผ่านกระบวนการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อช่วยยืดอายุขัยของวัสดุให้ยาวนานขึ้นและได้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ทั้งแตกต่างและมีมูลค่าเพิ่ม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นเวิร์คช็อปที่ชวนวิสาหกิจชุมชนด้านหัตถกรรม และนักศึกษาด้านการออกแบบและวัสดุศาสตร์ มาร่วมแบ่งปันไอเดียและทดลองสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากวัสดุเหลือใช้ของ SCGP โดยมี THINKK Studio สตูดิโอออกแบบของคนไทยมาช่วยเรื่องกระบวนการคิดและพัฒนาให้วัสดุเหลือใช้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

 

    คุณเดชา อรรจนานันท์ Creative Director และ Co-Founder ของ THINKK Studio เริ่มต้นเล่าถึงการทำงานที่หลากหลายของสตูดิโอตั้งแต่งานออกแบบภายใน งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงการทดลองเล่นกับวัสดุที่หลากหลายจนเป็นที่มาให้เริ่มสนใจการเพิ่มมูลค่าของเศษวัสดุเหลือใช้จากสิ่งแวดล้อม เช่นโปรเจกต์ ‘City Materials’ ที่ทางทีมคัดเลือก 6 วัสดุเหลือใช้ในกรุงเทพฯ อย่างถุงพลาสติก กากกาแฟ เศษวัสดุก่อสร้าง ก้านธูป กระดาษสลากกินแบ่งรัฐบาล และเศษไม้จากการตัดกิ่ง ต่อยอดออกมาเป็นงานออกแบบดีไซน์ใหม่ที่แตกต่าง หรืองาน ‘DEWA & DEWI 2021’ ที่ออกไอเดียนำวัสดุเหลือใช้จากผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมมาพัฒนาเป็นเฟอร์นิเจอร์อย่างชุดโต๊ะนักเรียนที่คำนึงถึงการยืดอายุการใช้งาน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ซึ่งนิทรรศการนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจาก SCGP ด้วยเช่นกัน

 

    สำหรับกิจกรรมเวิร์คช็อป “TRANSFORMATION” Waste to Value ที่เพิ่งจัดไปนั้น จารวี ทองบุญเรือง Project Coordinator, ภัทรกร มณีศิลาวงศ์ และสาธิตา แสงสวัสดิ์ Junior Furniture and Product Designer ของ THINKK Studio ก็ได้ร่วมแบ่งปันกระบวนการคิด ทดลอง และออกแบบการแปลงร่างเศษวัสดุทั้ง 4 ชนิดที่ SCGP นำมาเป็นโจทย์ ได้แก่ เส้นเทปเปลี่ยนม้วนกระดาษหรือ Paper Band, เส้นพลาสติกรีไซเคิลจากกระบวนการเป่าขวด, หลอดพลาสติก และพลาสติกบด

 

    ทีมนักออกแบบเริ่มต้นจากทำความเข้าใจคุณสมบัติที่แตกต่างกันของวัสดุ เช่น Paper Band กับเส้นพลาสติกรีไซเคิลที่มีลักษณะเป็นเส้น เหมาะกับขึ้นรูปด้วยการสานและขัดตามหัตถกรรมไทย ส่วนหลอดพลาสติกทรงกระบอกก็เหมาะกับการจับได้ถนัดมือ หรือพลาสติกบด เมื่อนำมาหลอมลงในแม่แบบก็จะเกิดเป็นแผ่นลักษณะคล้ายถาดที่มีพื้นผิวแข็งแรง

 

    จากวัสดุเหลือใช้ที่มีคุณสมบัติแตกต่างหลากหลาย THINKK Studio ได้ทดลองขึ้นรูปร่วมกันด้วยกระบวนการต่างๆ ออกมาเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ได้ในชีวิตประจำวัน 6 ชิ้น ได้แก่ แจกัน โคมไฟ กระเป๋าถือ (Hand Bag) ถาด พัด และกระเป๋า Tote Bag ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทดลองทำกันในเวิร์คช็อปครั้งนี้ แถมยังสร้างการมีส่วนร่วมจากวิสาหกิจชุมชนและนักศึกษา ให้นำถุงพลาสติกเหลือใช้มาผ่านกระบวนการทำความร้อนจนได้ออกมาเป็นแผ่นบางๆ นำไปใช้เป็นอีกหนึ่งวัสดุที่ช่วยตกแต่ง เพิ่มสีสันและเอกลักษณ์ของงานออกแบบแต่ละคนให้มีเอกลักษณ์ หลากหลาย และสนุกสนานมากยิ่งขึ้น

 

    คุณเดชายังเสริมว่า การเพิ่มมูลค่าให้วัสดุเหลือใช้นั้นสามารถเริ่มได้จากระดับง่ายสุดที่ตัวเราทุกคน เช่น การใช้ทักษะงานฝีมืออย่างง่ายๆ ออกแบบของเหลือใช้หรือขยะในครัวเรือนให้ใช้งานได้ยาวนานขึ้น ต่อยอดไปถึงระดับชุมชนที่ต้องคำนึงถึงกระบวนการทิ้งและจัดเก็บขยะ การส่งต่อมาเพื่อแปรรูป หรือหากใครที่สนใจพัฒนาให้ได้ผลลัพธ์ในระดับอุตสาหกรรม เครือข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชน รัฐบาล รวมถึงหน่วยงานวิจัยก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะท้ายที่สุด สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้งานออกแบบจากวัสดุเหลือใช้นั้นมีประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีไม่แพ้งานออกแบบชิ้นใหม่ และกลมกลืนกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค

 

    การชุบชีวิตให้วัสดุเหลือใช้มีมูลค่าเพิ่ม อาจต้องอาศัยทัศนคติและความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบที่จะมองผลลัพธ์ปลายทางให้ออกว่าจะต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์ถูกพัฒนาในรูปแบบไหน ผ่านกระบวนการคิด จับ สัมผัส และทดลองหาความเป็นไปได้ของวัสดุนั้นๆ โดยไม่มีกรอบจำกัด อย่างที่ THINKK Studio ก็ได้ทดลองกับวัสดุเหลือใช้ของ SCGP ในเวิร์คช็อปครั้งนี้ ซึ่งทางทีมมองว่าประสบความสำเร็จและได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วม ให้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดสร้างสรรค์และทักษะระหว่างนักศึกษาที่มีไอเดียสดใหม่ กับชาวบ้านจากวิสาหกิจชุมชนที่ถนัดงานฝีมือที่ประณีตเป็นทุนเดิม งานนี้ถือว่าทุกฝ่ายได้แรงบันดาลใจกลับไปพลิกแพลงต่อยอดในงานออกแบบของตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม

 

    เพราะท้ายที่สุด แนวคิดเรื่อง Upcycling ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเพียงกระแสชั่วคราว แต่คือตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการออกแบบผลิตภัณฑ์และอนาคตของโลกโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและโลกของพวกเราให้มากที่สุดนั่นเอง

SCGP ลงทุนครั้งสำคัญใน “Peute” (เพอเธ่) ธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ในยุโรป เพิ่มวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลกว่าล้านตัน เสริมแกร่งเป้าหมายบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน

SCGP เดินกลยุทธ์ขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเข้าลงทุนซื้อหุ้นร้อยละ 100 ใน “Peute” (เพอเธ่) ผู้ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์และผู้จำหน่ายวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลและพลาสติกรีไซเคิลรายใหญ่ที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ เพิ่มความสามารถจัดหาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล 1 ล้านตันต่อปี เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบ การผลิตสินค้าทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ ตลอดจนธุรกิจโซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร และรองรับความต้องการบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนที่สูงขึ้นของลูกค้าและผู้บริโภค หนุนการนำเทคโนโลยีและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการรีไซเคิลในอาเซียน

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า SCGP ได้ขยายการลงทุนในธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ เพื่อเสริมศักยภาพการดำเนินงานตามกลยุทธ์ระยะยาวของ SCGP ให้มีความแข็งแกร่งของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ตลอดทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ ล่าสุด ได้เข้าซื้อหุ้นร้อยละ 100 ใน Peute Recycling B.V. (Peute) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ ทั้งกระดาษและพลาสติกรายใหญ่ที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยการเข้าซื้อหุ้นข้างต้นดำเนินการสำเร็จเรียบร้อยแล้ว SCGP ได้ชำระเงินสำหรับการเข้าถือหุ้นร้อยละ 100 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 78.19 ล้านยูโร หรือประมาณ 2,875 ล้านบาท ธุรกรรมข้างต้นเป็นการดำเนินการผ่าน SCGP Solutions (Singapore) Pte. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ SCGP ถือหุ้นทั้งหมด โดย SCGP จะเริ่มแสดงผลประกอบการของ Peute ในงบการเงินรวมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 นับเป็นอีกก้าวสำคัญของบริษัทฯ ในการขยายการลงทุนในภูมิภาคยุโรปในรูปแบบ Merger & Partnership (M&P)

Peute เป็นบริษัทรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์และซื้อขายกระดาษและพลาสติกเพื่อรีไซเคิลรายใหญ่ที่สุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ ดำเนินธุรกิจและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้ามาอย่างยาวนานกว่า 60 ปี มีรายได้ 249 ล้านยูโร (ประมาณ 9,160 ล้านบาท) และกำไร 3.2 ล้านยูโร (ประมาณ 120 ล้านบาท) รวมถึงมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปีที่ผ่านมา 52 ล้านยูโร (ประมาณ 1,930 ล้านบาท) สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของการดำเนินงานที่สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความท้าทายด้านเศรษฐกิจในทวีปยุโรป Peute มีความสามารถจัดหาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล 1 ล้านตันต่อปี และจัดหาพลาสติกรีไซเคิล 1 แสนตันต่อปี ปัจจุบันโรงงานตั้งอยู่ที่เมืองดอร์เดรชท์ และมีแผนจะย้ายโรงงานไปยังเมืองอัลบลาสเซอร์ดัม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือรอตเตอร์ดัม เมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มความสามารถจัดหากระดาษและพลาสติกรีไซเคิลได้อีกเท่าตัว และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น (รายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บไซต์ www.peute.nl)

บริษัทฯ มั่นใจว่าการลงทุนครั้งนี้ จะช่วยเสริมศักยภาพให้ SCGP สามารถขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วได้ และจะเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญต่อกลยุทธ์การเติบโตในระยะยาว สร้างความแข็งแกร่งด้านการจัดหาวัตถุดิบเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจบรรจุภัณฑ์ทุกกลุ่ม ทั้งด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์ต้นน้ำ ปลายน้ำ และการบูรณาการภายใน เพื่อนำเสนอโซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร

นอกจากนี้ การลงทุนดังกล่าวยังสอดคล้องกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้วัสดุรีไซเคิลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่อง จากความสามารถในการจัดหากระดาษและพลาสติกรีไซเคิลที่เพิ่มขึ้นครั้งนี้ จะทำให้ SCGP สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้าและผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น และยังสามารถนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และโมเดลการบริการจัดการวัสดุเหลือใช้จาก Peute มาช่วยเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนด้วย

อีกทั้ง SCGP มีการขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายและครบวงจรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญของการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ โดยปัจจุบัน SCGP มีความต้องการใช้วัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลประมาณ 4.4 ล้านตันต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกตามแผนงานขยายกำลังการผลิตในอนาคต ดังนั้น การลงทุนครั้งนี้จะเพิ่มความสามารถการแข่งขันให้กับ SCGP จากการมีเครือข่ายจัดหาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิลเพิ่มขึ้นและครอบคลุม โดยช่องทางในปัจจุบันประกอบด้วย ศูนย์จัดการวัสดุรีไซเคิลของ SCGP การจัดเก็บโดยตรงจากแหล่งวัตถุดิบหลักและคู่ค้าท้องถิ่น รวมถึงแหล่งวัตถุดิบนำเข้าที่หลากหลาย ทั้งจากสหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรป ประเทศญี่ปุ่น และโอเชียเนีย

SCGP มุ่งมั่นตอบสนองความต้องการด้านบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน โดยนำเสนอสินค้าบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ ตลอดจนให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยปัจจุบันมีฐานการผลิตรวม    56 แห่ง ทั้งในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศมาเลเซีย สหราชอาณาจักร และประเทศสเปน

 

SCGP x THINKK ชวนร่วม Design Talks “Transformation Waste to Value” แปลงร่างวัสดุเหลือใช้เพื่อสร้างมูลค่า

xxxx