สถิติจำนวนผู้ลี้ภัยทั่วโลกที่เปิดเผยจาก UNHCR (ข้อมูลกลางปี 2567) มีมากถึง 37.9 ล้านคน และเมื่อติดตามข้อมูลย้อนหลังยังพบว่าเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี สวนทางกับยอดผู้บริจาคที่แนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ จึงก่อให้เกิดวิกฤตด้านงบประมาณและลดโอกาสในการรับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม
บ้านพักพิงดีต่อใจและการอยู่อาศัย
ALLSPACE สตาร์ตอัปจากไนจีเรียแก้ปัญหาโดยการสร้างสรรค์ผลงานบ้านพักพิงฉุกเฉินรองรับวิกฤตผู้ลี้ภัยชาวไนจีเรีย ที่ตอบโจทย์ทั้งการอยู่อาศัย งบประมาณที่จำกัด และความยั่งยืน นำเสนอในโครงการ Creatives for Our Future global mentorship and grant program ที่จัดเป็นครั้งที่ 4 ของมูลนิธิ Swarovski ซึ่งพัฒนาร่วมกับ UNHCR และได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 6 ผลงานเด่น และยังคว้ารางวัล the Young Global Changer Award มาครอบครอง
วัสดุเหลือใช้ชุบชีวิตใหม่ต่อชีวิตผู้ลี้ภัย
ในแง่ต้นทุน ผู้ออกแบบใช้วัสดุเหลือใช้ นำผ้าใบรีไซเคิลจากป้ายโฆษณาและเสาอะลูมิเนียมมาทำโครงสร้างบ้าน ขณะที่โซลาร์เซลล์ผลิตขึ้นจากวัสดุ e-Waste การผลิตบ้านผู้ลี้ภัยชั่วคราวรวมค่าขนส่งจึงมีราคาเข้าถึงได้เพียง 120 ดอลลาร์ หรือราว 3,898.62 บาท ต่อหลังเท่านั้น (อัตราแลกเปลี่ยนเดือนพฤษภาคม 2568) อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
เบื้องหลังแนวคิดการออกแบบ ผู้ออกแบบสร้างสรรค์บ้านผู้ลี้ภัยให้มีโครงสร้างแบบโมดูลาร์ สามารถถอดประกอบติดตั้งได้ง่ายภายใน 4 ชั่วโมง ติดตั้งโซลาเซลล์ด้านบนเพื่อกักเก็บพลังงานสำหรับสร้างแสงสว่างยามค่ำคืน และนำบริบททางวัฒนธรรมมาเป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบ โดยหยิบแรงบันดาลใจรูปทรงจากกระท่อมของชาวแอฟริกันพื้นถิ่น ลดทอนปรับดีไซน์ให้มีรูปทรงมินิมัล สวยงาม เพื่อให้ผู้อาศัยสัมผัสประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่น เนื่องจากผู้ออกแบบมองว่าบ้านนั้นมีความหมายสำหรับผู้คน
ทั้งนี้ ปัจจุบันผลงานยังอยู่ในขั้นทดสอบและปรับปรุงต้นแบบในค่ายผู้ลี้ภัย เพื่อพัฒนาวัสดุให้เหมาะสมตามสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศที่แตกต่างกัน เตรียมพร้อมต่อยอดขยายการใช้งานแก่ผู้ลี้ภัยในพื้นที่อื่น ๆ ในอนาคต ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการออกแบบนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ช่วยปกป้องทั้งคนและโลกอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญยังเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า นวัตกรรมที่ดีไม่จำเป็นต้องมีราคาสูงเสมอไป