SCGP Newsroom

SCGP x THINKK Studio แบ่งปันไอเดีย แปลงร่างสร้างมูลค่างานดีไซน์จากวัสดุเหลือใช้

    ผ่านไปแล้วกับสัมมนาออนไลน์ Design Talk “TRANSFORMATION” Waste to Value เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 ที่ SCGP จับมือกับ THINKK Studio ร่วมกันส่งต่อความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG (Environmental, Social, and Governance) รวมถึงแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ SCGP มุ่งเน้นผ่านการลดการใช้ทรัพยากร การใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบต่างๆ

 

    หนึ่งในแนวทางที่ SCGP ดำเนินการก็คือ Upcycle หรือการนำวัสดุเหลือใช้มาผ่านกระบวนการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อช่วยยืดอายุขัยของวัสดุให้ยาวนานขึ้นและได้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ทั้งแตกต่างและมีมูลค่าเพิ่ม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นเวิร์คช็อปที่ชวนวิสาหกิจชุมชนด้านหัตถกรรม และนักศึกษาด้านการออกแบบและวัสดุศาสตร์ มาร่วมแบ่งปันไอเดียและทดลองสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากวัสดุเหลือใช้ของ SCGP โดยมี THINKK Studio สตูดิโอออกแบบของคนไทยมาช่วยเรื่องกระบวนการคิดและพัฒนาให้วัสดุเหลือใช้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

 

    คุณเดชา อรรจนานันท์ Creative Director และ Co-Founder ของ THINKK Studio เริ่มต้นเล่าถึงการทำงานที่หลากหลายของสตูดิโอตั้งแต่งานออกแบบภายใน งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงการทดลองเล่นกับวัสดุที่หลากหลายจนเป็นที่มาให้เริ่มสนใจการเพิ่มมูลค่าของเศษวัสดุเหลือใช้จากสิ่งแวดล้อม เช่นโปรเจกต์ ‘City Materials’ ที่ทางทีมคัดเลือก 6 วัสดุเหลือใช้ในกรุงเทพฯ อย่างถุงพลาสติก กากกาแฟ เศษวัสดุก่อสร้าง ก้านธูป กระดาษสลากกินแบ่งรัฐบาล และเศษไม้จากการตัดกิ่ง ต่อยอดออกมาเป็นงานออกแบบดีไซน์ใหม่ที่แตกต่าง หรืองาน ‘DEWA & DEWI 2021’ ที่ออกไอเดียนำวัสดุเหลือใช้จากผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมมาพัฒนาเป็นเฟอร์นิเจอร์อย่างชุดโต๊ะนักเรียนที่คำนึงถึงการยืดอายุการใช้งาน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ซึ่งนิทรรศการนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจาก SCGP ด้วยเช่นกัน

 

    สำหรับกิจกรรมเวิร์คช็อป “TRANSFORMATION” Waste to Value ที่เพิ่งจัดไปนั้น จารวี ทองบุญเรือง Project Coordinator, ภัทรกร มณีศิลาวงศ์ และสาธิตา แสงสวัสดิ์ Junior Furniture and Product Designer ของ THINKK Studio ก็ได้ร่วมแบ่งปันกระบวนการคิด ทดลอง และออกแบบการแปลงร่างเศษวัสดุทั้ง 4 ชนิดที่ SCGP นำมาเป็นโจทย์ ได้แก่ เส้นเทปเปลี่ยนม้วนกระดาษหรือ Paper Band, เส้นพลาสติกรีไซเคิลจากกระบวนการเป่าขวด, หลอดพลาสติก และพลาสติกบด

 

    ทีมนักออกแบบเริ่มต้นจากทำความเข้าใจคุณสมบัติที่แตกต่างกันของวัสดุ เช่น Paper Band กับเส้นพลาสติกรีไซเคิลที่มีลักษณะเป็นเส้น เหมาะกับขึ้นรูปด้วยการสานและขัดตามหัตถกรรมไทย ส่วนหลอดพลาสติกทรงกระบอกก็เหมาะกับการจับได้ถนัดมือ หรือพลาสติกบด เมื่อนำมาหลอมลงในแม่แบบก็จะเกิดเป็นแผ่นลักษณะคล้ายถาดที่มีพื้นผิวแข็งแรง

 

    จากวัสดุเหลือใช้ที่มีคุณสมบัติแตกต่างหลากหลาย THINKK Studio ได้ทดลองขึ้นรูปร่วมกันด้วยกระบวนการต่างๆ ออกมาเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ได้ในชีวิตประจำวัน 6 ชิ้น ได้แก่ แจกัน โคมไฟ กระเป๋าถือ (Hand Bag) ถาด พัด และกระเป๋า Tote Bag ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทดลองทำกันในเวิร์คช็อปครั้งนี้ แถมยังสร้างการมีส่วนร่วมจากวิสาหกิจชุมชนและนักศึกษา ให้นำถุงพลาสติกเหลือใช้มาผ่านกระบวนการทำความร้อนจนได้ออกมาเป็นแผ่นบางๆ นำไปใช้เป็นอีกหนึ่งวัสดุที่ช่วยตกแต่ง เพิ่มสีสันและเอกลักษณ์ของงานออกแบบแต่ละคนให้มีเอกลักษณ์ หลากหลาย และสนุกสนานมากยิ่งขึ้น

 

    คุณเดชายังเสริมว่า การเพิ่มมูลค่าให้วัสดุเหลือใช้นั้นสามารถเริ่มได้จากระดับง่ายสุดที่ตัวเราทุกคน เช่น การใช้ทักษะงานฝีมืออย่างง่ายๆ ออกแบบของเหลือใช้หรือขยะในครัวเรือนให้ใช้งานได้ยาวนานขึ้น ต่อยอดไปถึงระดับชุมชนที่ต้องคำนึงถึงกระบวนการทิ้งและจัดเก็บขยะ การส่งต่อมาเพื่อแปรรูป หรือหากใครที่สนใจพัฒนาให้ได้ผลลัพธ์ในระดับอุตสาหกรรม เครือข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชน รัฐบาล รวมถึงหน่วยงานวิจัยก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะท้ายที่สุด สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้งานออกแบบจากวัสดุเหลือใช้นั้นมีประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีไม่แพ้งานออกแบบชิ้นใหม่ และกลมกลืนกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค

 

    การชุบชีวิตให้วัสดุเหลือใช้มีมูลค่าเพิ่ม อาจต้องอาศัยทัศนคติและความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบที่จะมองผลลัพธ์ปลายทางให้ออกว่าจะต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์ถูกพัฒนาในรูปแบบไหน ผ่านกระบวนการคิด จับ สัมผัส และทดลองหาความเป็นไปได้ของวัสดุนั้นๆ โดยไม่มีกรอบจำกัด อย่างที่ THINKK Studio ก็ได้ทดลองกับวัสดุเหลือใช้ของ SCGP ในเวิร์คช็อปครั้งนี้ ซึ่งทางทีมมองว่าประสบความสำเร็จและได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วม ให้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดสร้างสรรค์และทักษะระหว่างนักศึกษาที่มีไอเดียสดใหม่ กับชาวบ้านจากวิสาหกิจชุมชนที่ถนัดงานฝีมือที่ประณีตเป็นทุนเดิม งานนี้ถือว่าทุกฝ่ายได้แรงบันดาลใจกลับไปพลิกแพลงต่อยอดในงานออกแบบของตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม

 

    เพราะท้ายที่สุด แนวคิดเรื่อง Upcycling ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเพียงกระแสชั่วคราว แต่คือตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการออกแบบผลิตภัณฑ์และอนาคตของโลกโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและโลกของพวกเราให้มากที่สุดนั่นเอง

Leave a comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *