สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ปัจจัยภายนอกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรการภาษีทรัมป์ สงครามในประเทศต่าง ๆ ไปจนถึงการขาดเสถียรภาพด้านการเมือง ทำให้ผู้บริโภคเริ่มใช้จ่ายเงินน้อยลงอย่างชัดเจน รุนแรง ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ให้คำจำกัดความต่อประเด็นดังกล่าวว่า ‘แผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจ’ และได้แนะแนวทางที่ธุรกิจจะไปต่อได้แบบไม่บาดเจ็บรุนแรง
แผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจ
อ.เอกก์ ชี้ว่าความไม่แน่นอน (Uncertainty) พยากรณ์ไม่ได้ทางเศรษฐกิจปัจจุบันนั้นคล้ายกับ การเกิดแผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ ที่ไม่มีใครคาดคิด ใครจะไปเชื่อว่าในระดับโลก จะมีคนมาทำลายกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศของ WTO ผ่านการตั้งมาตรการทางภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงและเปลี่ยนแปลงมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
“หากเปรียบเทียบกับการแข่งขันฟุตบอล ก็เหมือนกับการใช้สกอร์เริ่มต้นที่ 1 – 0 บ้าง 4 – 0 บ้าง 14 – 0 บ้าง ไม่ใช่ 0 – 0 อย่างเคย ทำให้เกิดความเหลี่อมล้ำ ได้เปรียบเสียเปรียบกันอย่างไม่เคยเกิดขึ้นในโลกของการค้ายุคใหม่ ทั้งนี้เพราะทรัมป์ถือว่าสนามเขาใหญ่ ผู้ชมในสนามที่แน่นขนัด ใครก็อยากมาแข่งขันด้วย”
สถานการณ์ที่ว่านี้ ดูเหมือนผู้ควบคุมกฎ (ในทางการค้าระหว่างประเทศ คือ WTO) เอาไม่อยู่ แถมเงื่อนไขข้อตกลงในวันนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ในวันถัดไป แสดงให้เห็นชัดเจนว่า สิ่งที่ธุรกิจจะต้องเจอในโลกธุรกิจนั้นคือ ความไม่แน่นอน ที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
“แผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจนี้น่าจะมาอีกหลายระลอกในช่วงหลายปีข้างหน้านี้ ยังไม่นับความผันผวนเรื่องสมคราม ปัญหาชายแดน การเมืองทั้งนอกและในประเทศ ทำให้นักธุรกิจต้องหาทางรอดจากแผ่นดินไหวนี้ให้ได้”
-ย่อตัวให้เล็ก-
GDP ในประเทศสำคัญโดยเฉพาะในทวีปยุโรปได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจแล้ว ส่วนไทยเองประมาณการอัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP จะลดลงมาอยู่ที่ราว 1.8 (จาก 3.1% ในไตรมาส 1/2568)
“ต้องทำตัวให้เล็ก อย่าทำตัวใหญ่เมื่อเกิดแผ่นดินไหว จะได้หลบในที่ปลอดภัยได้สะดวกขึ้น” อ.เอกก์กล่าว
“ต้องเริ่มต้นดูว่า อะไรไม่จำเป็น ต้นทุนอะไรตัดได้ เรื่องการตลาดควรจับตลาดที่แคบไม่กว้าง ต้องรู้ว่าธุรกิจไหนไปได้ กลุ่มลูกค้าใดน่าสนใจ แล้วเน้นที่ตรงนั้น ไม่สะเปะสะปะ ในธุรกิจท่องเที่ยว หลายเดือนที่ผ่านมานักท่องเที่ยวจีนลดลงมาก กลุ่มที่ยังเหลืออยู่คือ Quality Chinese กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่มีกำลังซื้อ แบรนด์ต้องคิดให้ออกว่าจะจับกลุ่มนี้อย่างไร จากโจทย์นี้สิ่งที่แบรนด์ต้องโฟกัสไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวจีน แต่เป็นนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มกำลังซื้อสูง หรือสูงมาก ซึ่งรูปแบบการเข้าถึงลูกค้ากลุ่นนี้จะต่างกับนักท่องเที่ยวจีนทั่วไปโดยสิ้นเชิง ธุรกิจด้าน Premium Healthcare and Wellness เป็นกลุ่มที่ยังเติบโตได้
“เมืองไทยบุคลากรทางการแพทย์เก่งมาก แถมมีใจบริการ และราคาจับต้องได้ เรื่องอาหารและบริการสุขภาพเราก็ยอดเยี่ยม เรื่องสุขภาพใจเราก็มีกิจกรรมมากมายที่โดดเด่นระดับโลก ถัาจับกลุ่มลูกค้าให้ชัดก็ยังไปต่อได้“
นอกจากนี้ธุรกิจ Agricultural Technology และ Biotechnology ยังป็นกลุ่มที่น่าจับตามอง กลุ่ม Pet Care ก็ยังน่าสนใย ทุกวันนี้มีเงินหมุนเวียนอยู่กลุ่มนี้ราว 5 แสนล้านบาท
”ไอศกรีมสุนัขแพงกว่าไอศกรีมคน รถเข็นเด็กก็ราคาถูกกว่ารถเข็นสุนัขไปแล้ว“
-ทบทวนตัวเอง-
อ.เอกก์ แนะให้ธุรกิจใช้ห้วงเวลานี้กลับมาทบทวนสิ่งที่ทำอยู่ ผ่านการตรวจสุขภาพตนเองใน 3 มิติคือ 1) ลูกค้า 2) องค์กร และ 3) คู่ค้า
(มิติลูกค้า) จับแคบ อย่าจับกว้าง
ลูกค้าควรมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ไปรษณีย์ไทย ต้องการดูแลกลุ่มลูกค้า ”เอสเอ็มอีไทย“ ให้แข่งขันได้แข็งแรง ส่งสินค้าได้ถูกใจ ถูกต้อง ถูกสตางค์ ก็สามารถสื่อสารและทำการตลาดให้ชัดเจนไปได้เลย ซึ่งได้ผลดีกว่าการหว่านแหว่าส่งด่วนส่งเร็วแบบกว้าง ๆ แถมต้นทุนการใช้สื่อก็ถูกกว่าด้วย
(มิติองค์กร) ชัด อย่าเบลอ
องค์กรควรสื่อสารออกไปอย่างชัดเจน เก่งด้านไหน โดดเด่นด้านไหน พูดออกมาให้ชัด สถานการณ์แผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจจะทำให้ทุกคนเบลอไปหมด ดังนั้นแบรนด์ที่ตัวตนชัดเจนที่สุด คนถึงจะมองเห็น แม้ว่าความชัดนั้น จะทำให้รู้สึกเสียโอกาสทางการขายลงไปบ้างก็ต้องยอม
(มิติคู่ค้า) ให้ อย่าได้
อย่าเพิ่งหวังกำไรเยอะ ๆให้ถือโอกาสนี้ ดูว่าตรงไหนที่ช่วยเหลือกันได้ควรทำ เช่น ถ้าเราพอมีสภาพคล่อง แต่คู่ค้ายังลำบาก เราอาจจะขยาย Credit Term จาก 30 วันเป็น 45 วัน หรือปรับให้สั่งได้ในล็อตที่เล็กลงได้ชั่วคราว เพื่อให้คู่ค้าหายใจได้สะดวกขึ้น
“อย่าลืมว่าคนที่ได้รับความช่วยเหลือในวันที่ลำบาก เขาจะเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นมาก ๆ และจะจดจำไปอีกนาน”
วิกฤตที่เกิดขึ้นในวันนี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่แบรนด์ ได้กลับมาวิเคราะห์ตัวเองว่าตนจับกลุ่มเป้าหมายเหมาะสมแล้วหรือยัง นำเสนอจุดเด่นของตัวเองออกมาชัดแล้วหรือไม่ และได้โอกาสช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนจากแผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้และจะต่อเนื่องไปอีกยาวนาน
ที่มา: a LOT ฉบับที่ 36