ตลอดเส้นทางการทำงานในครอบครัว SCGP ผ่านเรื่องราวมากมาย หลากหลายประสบการณ์การทำงาน ความท้าทาย และการพัฒนาตนเอง วันนี้ คุณเถลิงศักดิ์ ราชบุรี Chief Operating Officer, Fibrous Business เปิดโอกาสและพร้อมแบ่งปันเรื่องราวและมุมมองที่น่าสนใจให้พวกเราได้ลองนำไปปรับใช้กัน
จุดเริ่มต้นจากสายงานวิเคราะห์และวางแผนธุรกิจ
คุณเถลิงศักดิ์เล่าจุดเริ่มต้นการทำงานใน SCGP ตั้งแต่ยังเป็นบริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) ในช่วง 10 ปีแรก ดูแลงานในฐานะนักวิเคราะห์ รับผิดชอบงานวางแผนกลยุทธ์ แผนธุรกิจ การประเมินผลตอบแทนโครงการ การควบรวมธุรกิจ ทั้งหมดล้วนเป็นงานที่ต้องลงลึกในรายละเอียดและอยู่กับหน้างานอย่างใกล้ชิด
“งานวิเคราะห์และวางแผนฝึกให้เราลงลึกในรายละเอียด อยู่หน้างานกับทีมงาน แต่พอโตขึ้น ในขอบเขตงานที่กว้างขึ้น นอกเหนือจากการลงรายละเอียดของงาน ยังต้องดูให้มีความสมดุลระหว่าง Performance กับ Well-being ของทีมงานด้วย
“แต่ละงานที่ได้รับมอบหมาย จะมีทีมงานที่ทำด้วยมากมาย ทุกคนมีลูกน้องและมีหัวหน้าที่มีความรอบรู้ ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ที่ช่วยกันทําให้งานง่ายขึ้น
“ในรอบวัฏจักรของธุรกิจ มีทั้งช่วงเวลาที่ดีและไม่ดี ทีมงานในธุรกิจปัจจุบัน ก็เคยผ่านทั้งช่วงเวลาที่ดีและช่วงเวลาที่ยากลําบากมาก่อน เป็นทีมงานที่เข้าใจว่าต้องทำอะไรและอย่างไร”
ในเส้นทางอาชีพ คุณเถลิงศักดิ์ได้รับมอบหมายให้ไปประจำที่ต่างประเทศสองครั้งคือ ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ซึ่งในทุกงาน คุณเถลิงศักดิ์เชื่อว่าองค์กรได้พิจารณาถึงความเหมาะสมทั้งกับตัวบุคคลและกับองค์กรด้วย
“ผมมองว่าครั้งแรกที่ฟิลิปปินส์เป็นโอกาสสำหรับตัวผมเองในการเรียนรู้หน้างานใหม่ ๆ ส่วนครั้งหลังที่อินโดนีเซีย เป็นการมองว่าเราทำประโยชน์ให้กับองค์กรในงานไหนได้บ้าง
“ตอนนี้ผมรับผิดชอบ Fibrous Business ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การปลูกสวนไม้ยูคาลิปตัส เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อ ไปจนถึงการนำเยื่อไปผลิตเป็นกระดาษ จากเดิมที่เรามีกระดาษพิมพ์เขียนเป็นส่วนใหญ่ ก็มีการ Transform มาเป็นกระดาษในอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ รวมถึงสิ่งทอ (Textile) จากเยื่อเคมีละลายน้ำได้ (Dissolving Pulp) ตลอดจนบรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัย Fest by SCGP”
โลกของธุรกิจไม่มีเซฟโซน
“Fibrous Business วันนี้อยู่บนเส้นทางของการ Transform อยู่แล้ว บทบาทของผมคือ มองหาโอกาสใหม่ ๆ ที่จะสามารถต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ หรือขยายตลาดในส่วน Consumer packaging อย่างบรรจุภัณฑ์สําหรับอาหารเพิ่มขึ้นได้อีกไหม
“จังหวะนี้เป็นช่วงที่ธุรกิจทั้งโลกมีความไม่แน่นอนสูง บางส่วนของการ Transform ที่จําเป็นต้องมีการลงทุนจึงต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง แต่ก็ต้องให้ทันท่วงทีด้วย
“ทุกธุรกิจต้องเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงเสมอ เพราะ Disruption มาจากหลายเรื่อง ทั้งจากเทคโนโลยี อุปสงค์ อุปทานที่เปลี่ยนแปลงฉับพลัน ปัญหาเกิดขึ้นได้เสมอ ผมคิดว่า Mindset เรื่องการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ทุกคนในองค์กรต้องพร้อมรับ”
Growth Mindset รับมือสถานการณ์ที่ไม่เป็นอย่างหวัง
“ผมเชื่อว่า คนทำงานทุกคนต้องเคยอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ได้เป็นตามความคาดหวัง ผมมีแนวคิดที่ได้แชร์กับทีมงานว่า ทุกอย่างไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของเราทั้งหมด ดังนั้นแนวคิดในการทำงานคือ ประเมินสถานการณ์ วางกลยุทธ์ให้ถูกต้องเหมาะสม ลงมือทำหรือจัดสรรทรัพยากรลงไปอย่างเต็มที่ หากผลลัพธ์ไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง ต้องมาทบทวนว่าขั้นตอนไหนที่อาจจะผิดไป หรืออาจจะมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ ในทุกสถานการณ์เรายังคงต้องพัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้น และต้องมี Growth Mindset มีความเป็นไปได้ที่อาจจะไม่ได้มีอะไรผิดพลาด แค่มันอาจจะยังไม่สำเร็จ
“อีกเรื่องคือ เมื่อเติบโตขึ้นควรจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการทำงาน จัดการตัวเองให้สามารถทํางานได้อย่างหลากหลายตามแต่ได้รับมอบหมาย และร่วมงานได้กับทีมงานที่หลากหลายด้วย และถ้าเราคิดว่าแนวคิด วิธีการเราถูกต้อง เราก็พยายามโน้มน้าวทีมให้ทําอย่างที่เราคิด หรือถ้าทีมงานมีแนวคิดที่ดี ทําอะไรในกรอบที่ดีอยู่แล้ว เราก็สนับสนุนและปรับตัวให้ Fit กับทีม”
ทุกคนคือผู้นำในแบบของตัวเอง
“เวลาที่พูดเรื่องผู้นำ เรามักจะมองคนที่อยู่ข้างบนสุดหรือคนถัดมาอีกไม่กี่คน แต่ในความเป็นจริง Leadership อยู่ในตัวทุกคน เราจะไม่โยนคําว่า Leadership ให้เป็นภาระของคนอื่น แต่ละคนต้อง Exercise Leadership ของตัวเองอยู่เสมอ โดยการเป็นผู้นำในแบบของตัวเอง ไม่ต้องเป็นคนอื่น แค่เป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีกว่า ผมจะบอกน้อง ๆ เสมอว่า ให้เป็นผู้นำในแบบที่คุณเป็น คุณมีจุดแข็งอะไร คุณก็ทําเรื่องนั้นให้เยอะ คุณมีจุดอ่อนอะไรก็ให้รู้ตัวแล้วปรับปรุงหรือแก้ไข ในโลกธุรกิจ หากต้องการเงินลงทุนก็ไประดมทุนได้ เราซื้อเครื่องจักรได้ ซื้อเทคโนโลยีได้ แต่สิ่งที่จะทำให้องค์กรแตกต่างคือ Leadership
“อีกเรื่องคือ Mindset ของการเป็นเจ้าของกิจการ (Ownership) ผมได้สัมผัสลึกซึ้งแนวคิดนี้ตอนอยู่ที่อินโดนีเซียว่า เราต้องกล้าตั้งคำถาม โดยอาจจะกังวลให้น้อยลงว่าเกินหน้าที่เราหรือไม่ ถามตัวเองว่า ถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการ เราจะทํามันอย่างไร จะทําอย่างนี้อยู่หรือเปล่า เพราะสุดท้ายมันอาจมีผลกระทบกับ Bottom Line ของธุรกิจ” คุณเถลิงศักดิ์ฝากข้อคิดทิ้งท้าย