ในยุคที่เศรษฐกิจผันผวน ความเชื่อมั่นขององค์กรเป็นสิ่งที่ต้องบริหารอย่างรอบคอบ เพราะหากสูญเสียไปแล้ว การเรียกคืนกลับมาอาจใช้เวลายาวนานและส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยตรง Your Answers ฉบับนี้ จึงได้พูดคุยกับ ผศ. ดร.เอกก์ ภทรธนกุล เพื่อค้นหาแนวทางสร้างความเชื่อมั่นให้แก่องค์กรอย่างยั่งยืนผ่าน 4 หลักสำคัญ ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถยืนหยัดท่ามกลางความไม่แน่นอน
4 หลักการสร้างรากฐานองค์กรที่แข็งแกร่ง
เมื่อองค์กรสูญเสียความเชื่อมั่น ผลกระทบที่ตามมาย่อมไม่เป็นผลดีในทุกมิติ ผศ. ดร.เอกก์เน้นว่า การสร้างรากฐานจากภายในเป็นหัวใจสำคัญ และสามารถทำได้ผ่าน 4 หลักการ ได้แก่ Fact, Diversify, Upskill/Reskill และ Resilience
Fact เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ช่วยให้องค์กรบริหารจัดการสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การมีข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และรอบด้านเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดความ Panic หรือ Uncertainty ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนหรือผิดพลาด อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด ส่งผลให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม องค์กรจึงต้องลงทุนอย่างจริงจังในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารระดับประเทศ ระดับโลก หรือแม้แต่กระแสสังคม เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้การตรวจสอบข้อเท็จจริง ยากขึ้น การใช้ Social Listening Tools สามารถช่วยให้ผู้บริหารเข้าใจสถานการณ์ได้ดีขึ้น หากเกิดกระแสด้านลบต่อแบรนด์ เครื่องมือเหล่านี้สามารถช่วยวิเคราะห์ว่าเป็นกระแสเล็กน้อยที่มองข้ามได้ หรือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข Fact ที่แม่นยำจึงเป็นรากฐานสำคัญในการตัดสินใจขององค์กร
Diversify เป็นอีกแนวทางสำคัญเพื่อลดความเสี่ยง องค์กรที่พึ่งพารายได้จากแหล่งเดียว อาจได้รับผลกระทบรุนแรงเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น ช่างซ่อมรถยนต์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเครื่องยนต์สันดาป อาจสูญเสียความสำคัญ เมื่อตลาดเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ดังนั้นองค์กรต้องคิดล่วงหน้าและเตรียมแผนสำรอง ธุรกิจที่มีการกระจายความเสี่ยงและขยายแนวทางไปสู่ New Business จะมีความมั่นคงมากกว่า และสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดได้ดีกว่า
Upskill/Reskill เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาศักยภาพองค์กรทุกระดับ ตั้งแต่พนักงานไปจนถึงผู้บริหาร ต้องมีการเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว องค์กรที่ไม่สามารถปรับตัวได้ จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เช่น ผู้บริหารที่ไม่คุ้นเคยกับการระดมทุน อาจต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดการเงินระหว่างประเทศ หรือพนักงานที่ไม่คุ้นเคยกับ AI ก็ต้องเริ่มปรับตัวให้สามารถใช้งานเครื่องมือเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาตรฐานวิชาชีพในหลายอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เช่น นักบัญชีต้องทำความเข้าใจกับมาตรฐานใหม่และสินทรัพย์รูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง องค์กรที่สามารถปรับตัวและพัฒนาทักษะได้ตลอดเวลาจะสามารถ แข่งขันในตลาดได้อย่างแข็งแกร่ง
Resilience หรือความสามารถในการฟื้นตัวและปรับตัวอย่างรวดเร็ว เป็นอีกปัจจัยที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ ไม่มีองค์กรใดสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาและอุปสรรคได้ 100% ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ การล้มแล้วลุกได้เร็ว และมีแนวคิดเชิงบวกกับความ ล้มเหลว การบริหารองค์กรในอนาคตจะต้องเน้นความรวดเร็วและความยืดหยุ่น หรือที่เรียกว่า Agility องค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบเก่าที่มองว่าความผิดพลาดเป็น สิ่งที่ต้องถูกลงโทษ อาจสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้และนวัตกรรม การสนับสนุนให้พนักงานกล้าทดลองสิ่งใหม่ ๆ และสามารถฟื้นตัวได้เร็วจากความล้มเหลว เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้องค์กรแข็งแกร่งขึ้น
สร้างองค์กรให้มี Mindset เดียวกัน
4 หลักการดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงแนวคิด แต่ต้องถูกนำมาใช้จริงในทุกระดับขององค์กร เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่เป็นระบบและสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรต้องสื่อสารและถ่ายทอดหลักการเหล่านี้ให้พนักงานทุกคนมีแนวคิดเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องของ Resilience ที่ต้องปลูกฝังว่า ความผิดพลาดเป็นโอกาสเรียนรู้ ไม่ใช่จุดจบของความก้าวหน้า การปรับ Mindset ของพนักงานสามารถทำได้หลายทาง เช่น การให้รางวัลกับพนักงานที่สามารถฟื้นตัวจากความล้มเหลวและคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาได้ดี หรือการเปิดโอกาสให้บุคลากรรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดที่ตรงกับทิศทางขององค์กรเข้ามาทำงานตั้งแต่ต้น
“จริง เร็ว ชัด ตรง” 4 หลักการกู้คืนความน่าเชื่อถือขององค์กร
เมื่อองค์กรต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤต สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การบริหารความ น่าเชื่อถือและจัดการปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ หลักการ “จริง เร็ว ชัด ตรง” เป็นแนวทางที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถรับมือกับข่าวลือและสถานการณ์ลบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“จริง” หมายถึง การยอมรับและเปิดเผยข้อเท็จจริงของสถานการณ์ หากองค์กรทำผิดพลาด ต้องสื่อสารออกมาอย่างจริงใจและแสดงความรับผิดชอบอย่างเหมาะสม “เร็ว” หมายถึง การจัดการสถานการณ์อย่างรวดเร็วและทันท่วงที เพราะข่าวลือและกระแสสังคมสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว หากองค์กรตอบสนองล่าช้า อาจทำให้ปัญหาลุกลามจนควบคุมไม่ได้ “ชัด” คือการสื่อสารที่ตรงไปตรงมา ไม่คลุมเครือ ไม่เยิ่นเย้อหรือเปิดช่องให้เกิดการตีความผิดพลาด “ตรง” หมายถึง การสื่อสาร ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น นักลงทุนต้องการความมั่นใจในความโปร่งใสและแผนรับมือ ลูกค้าต้องการเห็นว่าองค์กรยังคงให้คุณค่าและบริการที่ดีแก่พวกเขา
สรุป: ความเชื่อมั่นไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่ต้องบริหาร
4 หลักการบริหารความเชื่อมั่น Fact, Diversify, Upskill/Reskill และ Resilience เป็นรากฐานที่ช่วยให้ธุรกิจแข็งแกร่งจากภายในสู่ภายนอก ในขณะที่หลัก “จริง เร็ว ชัด ตรง” เป็นแนวทางที่ช่วยให้องค์กรสามารถรับมือกับสถานการณ์วิกฤติและเรียกคืนความน่าเชื่อถือได้อย่างรวดเร็ว หากองค์กรสามารถนำหลักการเหล่านี้ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและเติบโตได้อย่างมั่นคงท่ามกลางโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
คอลัมน์ Your answers จาก a LOT Vol.35